วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2556

วิจารณ์วรรณกรรม

วิจารณ์วรรณกรรม
รางวัลพานแว่นฟ้า ครั้งที่ ๒ เรื่อง เหนือคมพยัคฆ์


           
                เรื่องสั้น เหนือคมพยัคฆ์ ของชิด ชยากร ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดรางวัลพานแว่นฟ้า ครั้งที่  ๒ โดยชนะเลิศในหมวดเรื่องสั้นการเมือง (ประเภทประชาชน)
                รางวัลพานแว่นฟ้า เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นรางวัลพานแว่นฟ้า ครั้งที่ ๒ พุทธศักราช ๒๕๔๖ ซึ่งรางวัลพานแว่นฟ้าคือ การประกวดวรรณกรรมเรื่องสั้นและบทกวีทางการเมือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงออกทางการเมือง โดยใช้ศิลปะในการเขียนถ่ายทอดความรู้สึกสะท้อนภาพการเมืองหรือจินตนาการถึงการเมืองในอุดมคติ ซึ่งรางวัลชนะเลิศในปีนี้คือเรื่อง เหนือคมพยัคฆ์ที่สะท้อนภาพระบบการเมืองการปกครอง สังคม วัฒนธรรม และการใช้ชีวิตได้อย่างสร้างสรรค์และมีนัยที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

เนื้อเรื่องย่อ
                เหนือคมพยัคฆ์ เป็นเรื่องสั้นที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับนักการเมืองคนหนึ่งชื่อว่า ยุทธภูมิ เนื้อเรื่องมีอยู่ว่า หลังจากที่ยุทธภูมิไปประชุมคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพล เขาก็ได้นั่งรถกลับบ้าน ในขณะที่เขากำลังนั่งอยู่ในรถเขาก็คิดและปล่อยวางกับเรื่องนโยบายนี้ที่มันทำให้เขายุ่งยากใจ เพราะบุคคลเหล่านี้มักจะสร้างบารมีมาด้วยการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งแต่ละคนก็ล้วนมีหน้ามีตาในสังคม ไม่ว่าจะระดับท้องถิ่นหรือระดับประเทศ ถ้าเขากระทำอะไรซักอย่างที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อพวกเขา นั่นก็คือเขาได้สร้างศัตรูไปแล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้ตอนนี้เขาจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทย เมื่อความเหนื่อยล้าก้าวเท้าเข้ามาทำให้เขานอนหลับไป รู้สึกตัวตื่นอีกครั้งก็ตอนที่รถมาถึงประตูหน้าบ้าน แต่ที่หน้าบ้านของเขาก็มีเหตุการณ์ชุลมุนอยู่กับใครซักคนหนึ่ง มีนักข่าวสามสี่คนมาสังเกตการณ์อยู่ที่หน้าบ้านและถ่ายรูปกันวูบวาบ เขาจึงได้ถามคนขับรถว่ามีเรื่องอะไร คนขับรถบอกว่าสงสัยจะเป็นพวกติดยากำลังอาละวาด เดี๋ยวเจ้าหน้าที่ก็คงจะมาจัดการ ในขณะที่รถกำลังเคลื่อนตัวเข้าบ้านเขาก็อดไม่ได้ที่จะหันไปไปมอง เมื่อเขาเห็นแววตาของชายร่างโทรม สกปรก มอมแมมคนนั้นแล้ว เขารู้สึกคุ้นเคยกับมันอยู่ไม่น้อย เขาจึงบอกให้คนขับรถจอดรถและเดินเข้าไปหาชายร่างโทรมคนนั้น ทันทีที่ชายคนนั้นเห็นยุทธภูมิ เขาก็ตะโกนลั่นถามว่า ท่านครับจำผมได้ไหมยุทธภูมิเพ่งมองร่างขะมุกขะมอมนั้นและทำให้เขาคิดถึงคนคนหนึ่งขึ้นมาได้ ใช่แล้วเขานั่นเอง ร่างโทรมนั้นโผเข้ากอดยุทธภูมิทันที ภาพชายสองคนกอดกันกลมบนถนนสาธารณะ สร้างความแปลกใจให้กับทุกคนเป็นอย่างมากเพราะหนึ่งในนั้นคือรัฐมนตรีว่าการการกระทรวงมหาดไทย ชายร่างโทรมนั้นทำให้เขานึกถึงวันที่กว่าที่เขาจะได้เป็น ส.. ที่เขายอมทำทุกอย่างเพื่อที่จะให้ชนะการเลือกตั้ง เมื่อได้ตำแหน่งมาก็ต้องสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง ยุทธภูมิได้สนับสนุนค่ายมวยแห่งหนึ่ง โดยให้นักมวยใช้ชื่อค่ายว่า เกียรติศักดิ์ยุทธภูมิและมีรองแชมป์โลกมวยสากลชื่อ คมพยัคฆ์ เกียรติศักดิ์ยุทธภูมินับวันเขี้ยวเล็บของคมพยัคฆ์ก็ยิ่งแหลมคม แต่แล้ววันหนึ่ง   คมพยัคฆ์ก็เริ่มมีอาการบาดเจ็บและสละแชมป์ลงจากบัลลังก์ไปและก็เงียบหายไปเกือบยี่สิบปี แต่วันนี้  ยุทธภูมิได้พบเขาอีกครั้งในสภาพคล้ายคนบ้า ความหดหู่ใจคือความรู้สึกแรกที่บังเกิด แต่ก็มีอีกความรู้สึกแทรกเข้ามาคือ ใช้เขาทำให้ชื่อเสียง และคุณงามความดีกลับมา ภาพรัฐมนตรีนั่งคุกเข่ากับพื้นกอดกันกลมกับชายไร้สารรูปซึ่งมอมแมมดั่งคนบ้า ถูกหนังสือพิมพ์ตีข่าวหลายฉบับ เหตุการณ์เป็นไปตามที่เขาคิดไว้ คมพยัคฆ์นั้นนอนให้น้ำเกลืออยู่ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และเขาก็ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่าเขาจะเป็นผู้ดูแลคมพยัคฆ์และจะไม่ทอดทิ้งคมพยัคฆ์จนวาระสุดท้ายของชีวิต แต่ในความเป็นจริงเขาดูแลคมพยัคฆ์เพราะต้องการจะใช้ประโยชน์และพูดขึ้นมาว่า ฉันจะดูแลแกเองคมพยัคฆ์ ดูแลแกในฐานะรัฐมนตรีที่มีความเป็นนักการเมืองเต็มกมลสันดาน

นักการเมือง กับการทุจริตที่ไม่สิ้นสุด
                เหนือคมพยัคฆ์ เป็นเรื่องสั้นที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางการเมือง สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของการเมืองในหลายแง่มุม ซึ่งผู้แต่งได้สื่อให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของนักการเมืองไทยและยังสื่อให้เห็นถึงปัญหาในสังคมที่เป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน ที่มีคุณค่าแก่การนำแง่มุมเหล่านั้นมาวิเคราะห์ โดยแนวคิดที่ได้มีประเด็นดังนี้

                 แนวคิดเกี่ยวกับนโยบายทางการเมืองในสังคมไทยและแก้ไขปัญหาผู้มีอิทธิพล
                การที่ยุทธภูมิต้องเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีในเรื่องของนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพลในสังคมไทยนั้น ทำให้เขาเกิดความรู้สึกลำบากใจ รู้สึกเหนื่อยที่จะต้องแก้ไขปัญหานี้เพราะนักการเมืองเหล่านั้นมักจะมีบารมี เป็นคนใหญ่คนโตและมีหน้ามีตาในสังคม การที่ยุทธภูมิจะเข้าไปกระทำการอะไรซักอย่างกับบุคคลเหล่านี้ ย่อมจะทำให้เป็นศัตรูกับบุคคลเหล่านี้อย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าเขาจะมีตำแหน่งเป็นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ตาม ดังเนื้อเรื่องที่ว่า
                               
                                นโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพลบนผืนแผ่นดินเป็นสิ่งที่ทำให้ผมยุ่งยากใจ เพราะบุคคลเหล่านี้มักจะสร้างบารมีเติบใหญ่มาด้วยการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งหลายคนล้วนมีชื่อเสียง มีหน้ามีตาในสังคม ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ การที่ผมจะทำอะไรลงไปสักอย่างที่มีผลกระทบต่อพวกเขา นั่นย่อมหมายถึงเป็นการสร้างศัตรูอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
            ­
            แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตและฉ้อโกงในคณะรัฐบาล
                การทุจริต และประพฤติมิชอบในวงราชการ เป็นเรื่องของการใช้อํานาจ หรืออิทธิพลใน    ตําแหน่ง หน้าที่ราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้มีอํานาจกระทําการต่างๆ แทนรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นผู้รักษาประโยชน์ร่วมกันของมหาชนอํานาจเหล่านี้ไม่ได้ผูกติดกับตัวบุคคล แต่มาจากสถานภาพการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นกลไกของรัฐบาลในการดําเนินงานเพื่อส่วนรวม ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไป เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ญาติพี่น้อง พรรคพวกหรือเห็นแก่ความมั่งคั่ง และสถานภาพที่จะได้รับหรือทําให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือราชการ ต้องถือว่าเป็นการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราช การ (อุดม รัฐอมฤต,2530 อ้างถึงใน สํานักงาน ก.พ., 2544 : 3(4)) ซึ่งผู้แต่งได้นำเสนอทัศนะของตนเองที่มีต่อปัญหาการทุจริต ฉ้อโกงทางการเมืองของรัฐบาลในปัจจุบันว่าในคณะรัฐมนตรีรัฐบาลชุดนี้หาคนที่จะไม่ฉ้อโกง ทำงานด้วยความซื่อสัตย์และเดินในทางที่ขาวสะอาดนั้นยากเพราะบางคนก็สร้างอำนาจทางการเมืองขึ้นด้วยการกระทำเรื่องที่ผิดกฎหมาย มีแต่คนใช้เล่ห์เหลี่ยมกลโกงเพื่อจะคงไว้ซึ่งตำแหน่งหรือเพื่อเลื่อนตำแหน่งให้ตนเอง ต้องมีจิตใจที่โหดเหี้ยม ไม่สามารถเชื่อใจใครได้เพราะต่างคนต่างจ้องที่จะหาผลประโยชน์ ดังเนื้อเรื่องที่ว่า

                                “ผมเชื่อว่าในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ยากจะหาใครซักคนที่เดินบนถนนสายการเมืองด้วยความสะอาด ปราศจากเล่ห์เหลี่ยมกลโกง การเดินบนถนนสายนี้เขี้ยวเล็บต้องแหลมคม สายตาต้องกว้างไกล และหัวใจต้องโหดพอพึงรำลึกอยู่เสมอว่า ที่นี่ไม่มีมิตรแท้ ไม่มีศัตรูที่ถาวร ข้อสำคัญพึงต้องยึดถือว่า การตระบัดสัตย์เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ

                                              

                แนวคิดเรื่องปัญหาสังคมไทยในปัจจุบันที่เป็นปัญหาเรื้อรัง
                สังคมไทยในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ผู้คนในสังคมมีการเบี่ยงเบนความสัมพันธ์ไปจากเดิม และสถาบันทางสังคมก็ทำหน้าที่ไม่ครบสมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้เกิดปัญหาสังคม ปัญหาสังคมไทยมีอยู่มากมายหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น ปัญหายาเสพติด ปัญหาเด็กและเยาวชน ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ปัญหาความยากจน ปัญหาผู้พิการ เป็นต้น ซึ่งผู้แต่งได้สื่อให้เห็นถึงภาพสะท้อนในสังคมเมืองหลวงในปัจจุบันที่เป็นปัญหาเรื้อรังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ให้หมดไปได้มาจนถึงปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคนติดยา เรื่องคนพิการที่มาขอทาน โดยผู้แต่งได้เน้นภาพสะท้อนเรื่องคนบ้า คนติดยา ให้ชัดเจนเพราะตัวละครในเนื้อเรื่องเป็นคนยากจน เนื้อตัวมอมแมม โวยวายเหมือนคนบ้า ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้มีให้เห็นแทบทุกซอกทุกมุมในกรุงเทพฯ สังคมตกอยู่ในอาการฟอนเฟะ และปัญหาแบบเดียวกันนี้ ไม่ได้มีเฉพาะในสังคมเมืองหลวงเท่านั้น แต่ปัญหาแบบนี้ยังมีให้เห็นในทุกพื้นที่ของต่างจังหวัดในประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งทางภาครัฐต้องเร่งแก้ปัญหา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เร่งแก้ปัญหาทางสังคมที่เลื่อมล้ำให้ค่อยๆหมดไปหรือค่อยๆลดน้อยลง ดังเนื้อเรื่องที่ว่า

                                “สงสัยจะเป็นพวกคนบ้าหรือพวกติดยาครับท่าน มันกำลังอาละวาด ประเดี๋ยวเจ้าหน้าที่คงจัดการได้เรียบร้อย ภาพชีวิตคนบ้า คนติดยาและคนไม่สมประกอบทั้งทางสมองและร่างกาย มีให้เห็นแทบทุกมุมของกรุงเทพฯ สังคมร่วมของเมืองหลวงทุกยุคทุกสมัย ล้วนตกอยู่ในอาการฟอนเฟะ ซึ่งทุกพื้นที่ของต่างจังหวัดทั่วประเทศก็ไม่แตกต่างกัน

                แนวคิดเรื่องการสร้างภาพของนักการเมืองไทย เพื่อให้ตนเองดูเป็นคนดีในสายตาสาธารณชน
                โดยทั่วไปแล้ว ภาพลักษณ์ของบุคคลในสายตาของคนส่วนใหญ่ คือภาพที่มีต่อความรู้สึกนึกคิดที่จะเกิดขึ้นได้จากความเชื่อถือและศรัทธาของประชาชน ทั้งนี้ ภาพลักษณ์ของบุคคลขึ้นอยู่กับประสบการณ์ข้อมูลหรือข่าวสารที่สาธารณชนได้รับ โดยจะประทับใจหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรม จากเหตุผลที่กล่าวมา ภาพลักษณ์เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นและเปลี่ยนแปลงได้เสมอ (เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ, 2533)
                การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีนั้นควรเกิดจากข้อเท็จจริงและกิจกรรมหรืองานที่ทำกันอยู่เป็นประจำโดยไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ แต่ต้องวางแผนการสื่อสารสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นระบบแบบแผนถูกต้องเป็นไปตามความจริง เพราะการปล่อยให้เกิดภาพลักษณ์เป็นไปโดยธรรมชาติ     อาจทำให้ลักษณะที่แท้จริงขององค์กร หรือตัวบุคคลที่ปรากฏสู่สายตาประชาชนบิดเบือน เหมือนในเนื้อเรื่องที่ผู้แต่งต้องการสื่อกล่าวคือ การที่ชายร่างโทรมเนื้อตัวมอมแมมคนนั้นได้โผเข้ากอดยุทธภูมิทันทีที่เจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยของยุทธภูมิได้ปล่อยตัวเขานั้น ทำให้ยุทธภูมิรู้สึกรังเกียจชายสกปรกมอมแมมคนนั้นมาก แต่ด้วยเหตุที่ว่ามีนักข่าวและประชาชนสัญจรผ่านไปมาเห็นเยอะ เลยทำให้ยุทธภูมิเลือกที่จะกอดชายร่างโทรมคนนั้นไว้ แต่ความจริงในใจของยุทธภูมิได้รู้สึกรังเกียจและเหม็นสาบชายสกปรกคนนี้เต็มทน แต่เพื่อรักษาชื่อเสียงและรักษาหน้าตาในวงสังคม เขาจึงเลือกที่จะไม่พูดออกมา ทำได้แค่คิดในใจ ดังตอนที่ว่า

                                บัดซบความรู้สึกแรกที่สัมผัสจมูกผมคือ กลิ่นเหม็นสาบน่าวิงเวียนคลื่นเหียนอย่างที่สุด กลิ่นนั้นมันออกมาจากชายคนที่กำลังโอบกระหวัดรัดผม สูทสีน้ำเงินยี่ห้อดังจากเมืองนอกตัวที่ผมใส่ คงจะเปรอะเปื้อนสิ่งโสโครก จนผมไม่แน่ใจว่าจะกล้าใส่ในวันข้างหน้าอีกหรือไม่ บัดซบ….มันเหม็นจริงๆ”  แสงแฟลชวูบวาบ เสียงกดชัตเตอร์กล้องถ่ายรูปดังขึ้น มันทำให้กลิ่นสาบสางในใจผมลดลงไปได้บ้าง

                แนวคิดเรื่องการทุจริตฉ้อโกง ในการเลือกตั้งสมาชิสภาผู้แทนราษฎรท้องถิ่น
                ผู้แต่งสื่อให้เห็นถึงทัศนะการคิดเรื่องการทุจริตการเลือกตั้ง ส.. ท้องถิ่นว่าการได้มาซึ่งตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองนั้นได้มา เพราะความนิยมของพรรคการเมืองที่สังกัด เงินทอง ชื่อเสียงในการดึงฐานะคะแนนเสียง หรือมารยาสาไถยต่างๆที่จะขุดขึ้นมาทำทุกทาง เพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งและหน้าที่ทางการเมือง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่ยุติธรรม ไม่โปร่งใสในการเลือกตั้งยิ่งถ้าเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ไม่ค่อยเข้มงวดแล้วนั้นทางผู้สมัครยิ่งกระทำการทุกอย่างเพื่อให้ตนเองได้รับเลือกและได้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังตอนที่ว่า
                                ผมเป็น ส.. สอบตกมาสองสมัย นั่นเป็นเพราะสังกัดพรรคการเมืองที่อยู่นอกกระแสความนิยมเล่ห์เหลี่ยมเชิงชั้นทางการเมืองยังอ่อนด้อย แต่พอสมัยที่สามผมได้เข้าไปอยู่ในพรรคการเมืองยอดนิยมแห่งยุคนั้น มีเงินทองมากพอที่จะลงทุนดึงคะแนนเสียงมากขึ้น ข้อสำคัญมารยาสาไถยสารพัดในการทำให้ตนเองมีชัยในการเลือกตั้ง ได้ถูกนำมาใช้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ผมจึงสามารถเดินทางเข้าสู่สภาอันทรงเกียรติได้อย่างเต็มตัว แม้จะมีริ้วรอยในหัวใจบ้างว่า ก้าวเข้ามาอย่างไม่บริสุทธิ์นักก็ตามที

                และเมื่อได้รับตำแหน่งแล้วก็จะต้องดำรงรักษาตำแหน่งนั้นไว้ เพื่อจะได้มาซึ่งตำแหน่งที่สูงขึ้นและเงินตราที่มากขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า การเมืองไทยนั้นได้มีการทุจริตและฉ้อโกง ใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิด ผู้คนทางสังคมต่างยำเกรง ใช้คนในสังคมเป็นเครื่องมือเพราะบางคนมอบความเกรงอกเกรงใจให้นักการเมืองที่มีหน้ามีตาทางสังคม ดังตอนที่ว่า

                                ช่วงนั้นผมอยู่ในฐานะ ส.. ธรรมดา ไม่มีตำแหน่งใหญ่โตในคณะรัฐบาล รายได้จึงไม่มากเหมือนชื่อเสียงที่เริ่มโด่งดัง ชื่อเสียงของผมเดินทางมาก่อนเงินตรา ผมใช้ความมีหน้ามีตาในสังคมกลบเกลื่อนพิรุธการมอบสร้อยปลอมโดยไม่มีข้อสงสัย บุคคลต้องสงสัยของสังคมย่อมจะเป็นนายห้างขายยา ขายเครื่องดื่มบำรุงกำลังมากกว่า

                และสื่อให้เห็นถึงความมั่งคั่ง มั่นคงทางการเงินของนักการเมืองหลังจากที่ได้รับตำแหน่งแล้ว ใครๆก็อยากจะมาเป็นนักการเมือง เพราะต้องการที่จะมีอำนาจและสร้างความเป็นปึกแผ่นทางการเงิน ดังตอนที่ว่า
                                                ช่วงนั้นหน้าที่การงานของผมเจริญรุดหน้าไปอย่างยิ่งยวด ผมได้เป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเล็กๆกระทรวงหนึ่ง รายได้ผมมากขึ้น

                อัตลักษณ์ของนักการเมืองไทย
                ผู้แต่งได้สื่อให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของนักการเมืองไทยว่า การหาผลประโยชน์จากคนที่อ่อนแอกว่า คือการนำความอ่อนแอของผู้อื่นมาสร้างให้เป็นผลประโยชน์ให้ตนเอง เช่นเดียวกับยุทธภูมิที่นำสภาพชีวิตที่น่าสงสารของคมพยัคฆ์ ผู้ที่เคยมีส่วนทำให้ตนเองประสบความสำเร็จมาแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการเมืองของตนและสร้างผลประโยชน์ให้ตนเอง ดังตอนที่ว่า

                                ผมคิดว่าผมกำลังพบกับจุดประกายที่พอจะขยายผลประโยชน์ในด้านชื่อเสียงให้กับตัวเองได้ รัฐมนตรีผู้ซึ่งกำลังเผชิญวิกฤตปัญหาทางการเมืองบางประการ ผมถูกโจมตีในเรื่องผลงานจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน การมาพบกับคมพยัคฆ์ในครั้งนี้อาจจะทำให้ชื่อเสียงและคุณงามความดีของผมกลับคืนมาได้บ้างไม่มากก็น้อย
               
                การสร้างภาพของนักการเมือง
                นักการเมืองพยายามที่จะนำเสนอภาพลักษณ์ผ่านสื่อต่างๆ เช่น การพบปะประชาชนในพื้นที่การใช้โปสเตอร์          ใบปลิว   หรือแผ่นพับที่ให้ข้อมูลถึงประวัติการทำงาน การศึกษา รวมถึงภาพการทำงานเพื่อประชาชน อย่างไรก็ดี            การนำเสนอในวงกว้างย่อมได้ผลที่ดีกว่า ดังนั้นนักการเมืองจึงนิยมใช้สื่อ มวลชนในการสร้างและเสนอภาพลักษณ์ เพราะสื่อมวลชนมีบทบาทและหน้าที่ในการกระจายข้อมูลข่าวสารถึงประชาชนได้ในวงกว้าง นอกจากนี้ สื่อมวลชนยังเป็นตัวกลางในการประชาสัมพันธ์นโยบายของกลุ่มการเมือง คุณสมบัติงานที่ผ่านมา      ซึ่งมีอิทธิพลต่อการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งและตัดสินใจเลือกบุคคลหรือกลุ่มการเมืองในต่อไป ดังตอนที่ว่า
                               
                “ภาพรัฐมนตรีใส่สูทราคาแพงนั่งคุกเข่ากับพื้นถนน กอดกันกลมกับชายไร้สารรูปซึ่งมอมแมมดั่งคนบ้า ถูกหนังสือพิมพ์ตีพิมพ์หลายฉบับข่าวอดีตแชมป์โลกตกยากกลายเป็นข่าวเด็ดกลบข่าวอื่นไปหมด เหตุการณ์ของข่าวสารเป็นไปอย่างที่ผมคิด
                และผลการที่ยุทธภูมินั้นได้สร้างภาพลักษณ์ว่าตนเองจะดูแลคมพยัคฆ์ จะไม่ทอดทิ้งเพราะคมพยัคฆ์เคยเป็นคนที่เคยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาตินั้น ก็เป็นเครื่องยืนยันแล้วว่านักการเมืองยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาถึงชื่อเสียงอย่างแท้จริง ดังตอนที่ว่า

                                จำเป็นครับผมต้องดูแลคมพยัคฆ์ให้ดีที่สุด เขาเป็นคนของประชาชน เป็นวีรบุรุษผู้เคยสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ เขาย่อมเป็นสมบัติของแผ่นดิน ภาพของเขาที่ทุกท่านเห็นอยู่ขณะนี้เป็นผลพวงมาจากการต่อสู้ในอดีต ผมเชื่อว่าทุกคนจะไม่ลืมเขาเป็นอันขาดผมก็เช่นกัน ผมไม่อาจทอดทิ้งคมพยัคฆ์ เกียรติศักดิ์ยุทธภูมิ ผมให้สัญญากับทุกท่านและคนไทยทั้งชาติไว้ ณ ที่นี้ หากแม้วันใดผมสิ้นลมหายใจ วิญญาณผมก็จะติดตามพิทักษ์ดูแลเขาตลอดไป ยอดนักมวยผู้นี้เจ็บปวดมามากแล้ว เขาควรที่จะสุขสบายต่อไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
                                ฉันจะดูแลแกเองคมพยัคฆ์ ดูแลแกในฐานะรัฐมนตรีที่มีความเป็นนักการเมืองเต็มกมลสันดาน

                แม้ว่านักการเมืองหลายคนพยายามสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตนเอง แต่ก็ประสบทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว เพราะสารที่ส่งไปยังสาธารณชนเป็นเพียง การสร้างภาพแต่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ท้ายที่สุดความเป็นตัวตนที่แท้จริงก็ปรากฏสู่สาธารณชน ในการนี้สื่ออินเทอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญต่อการแสดงความคิดเห็นของประชาชนผ่านทางชุมชนออนไลน์และทำให้เห็นพัฒนาการของการสื่อสารทางการเมืองของประเทศไทย ซึ่งเริ่มจากการสื่อสารแบบทางเดียวมาเป็นการสื่อสารแบบสองทาง                และมีการโต้ตอบทางการสื่อสารมากขึ้น และการสื่อสารทางการเมืองจากที่รัฐเป็นผู้กุมอำนาจเพียงผู้เดียวมาสู่การที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการสื่อสารมากยิ่งขึ้น ดังนั้นนักการเมืองที่มีคุณภาพทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองด้วยความทุ่มเทซื่อสัตย์สุจริต ก็จะได้รับการยกย่องสรรเสริญและชื่นชมจากประชาชน ในทางตรงกันข้ามหากนักการเมืองประพฤติไม่สอดคล้องกัน ภาพที่พยายาม สร้างขึ้นมาสื่อออนไลน์ก็จะตีแผ่สิ่งนั้นออกสู่ประชาชนทั่วไป (บัญญัติ คำนูณวัฒน์, 2555)

                สรุป
            เรื่องสั้น เหนือคมพยัคฆ์ สะท้อนความเป็นนักการเมือง สะท้อนเรื่องของการเมืองในมุมมองต่างๆได้อย่างเข้มข้น ชวนน่าติดตาม เสนอแนวคิดที่เกี่ยวกับการทุจริต คอร์รัปชั่นของวงการการเมือง อัตลักษณ์ของนักการเมือง ทั้งเรื่องการหาผลประโยชน์ใส่ตัว การสร้างภาพลักษณ์ของนักการเมืองที่มีผลต่อการเมืองในปัจจุบัน

 เอกสารอ้างอิง

รัฐสภาและสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย. (๒๕๔๗). วรรณกรรมการเมือง รางวัลพานแว่นฟ้า
          ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ.
อริสา เหล่าวิชยา. ๒๕๕๖. ภาพลักษณ์นักการเมือง. [ออนไลน์]. จาก          http://www.bu.ac.th/knowledgecenter/executive_journal/april_june_13/pdf/aw08.  pdf  สืบค้นเมื่อ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๖.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น