วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ฉากญี่ปุ่น

หนังสืออ่านนอกเวลา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖

หนังสืออ่านนอกเวลา วิชาภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖

            หนังสืออ่านนอกเวลาเรื่อง ฉากญี่ปุ่น


            . ผู้เขียน :... คึกฤทธิ์  ปราโมช
                . สำนักพิมพ์ : ดอกหญ้า 2000
                . สรุปเนื้อหา :
                                 หนังสือเรื่อง ฉากญี่ปุ่น เป็นหนังสือเกี่ยวกับเมืองญี่ปุ่นโดยแท้ ซึ่งผู้เขียนต้องการสื่อให้เห็นถึงประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยที่มีอะไรคล้ายกันหลายๆอย่าง ทั้งๆที่เป็นประเทศที่อยู่ในทวีปเดียวกันกับเรา เพราะเรามักจะลืมมองสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเสมอ และคนไทยก็ชอบมองสิ่งที่ไกลตัว เช่น สนใจในทวีปยุโรปหรืออเมริกา เป็นต้น ผู้เขียนต้องการชี้ให้ผู้อ่านเห็นถึงเรื่องที่ใกล้เคียงกัน เนื่องด้วยญี่ปุ่นและไทยต่างเป็นสองชาติที่มีเอกราชมาตั้งแต่ดั้งเดิม ประวัติและวิวัฒนาการของญี่ปุ่นและไทยจึงมีอะไรที่ใกล้เคียงกันหรือตรงกันอยู่มาก ในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนได้แบ่งออกเป็น ๑๕ ตอน ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวของญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง
. เหตุจูงใจ
สรุปเนื้อหา :
                 ผู้เขียนได้แลเห็นว่าญี่ปุ่นและไทยมีอะไรที่เหมือนกันหลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องใหญ่ไปจนถึง เรื่องเล็ก เป็นต้นว่า เมื่อกินข้าวเสร็จแล้วคนญี่ปุ่นก็จะยกมือไหว้กัน (ไหว้แม่โพสพ) ดั่งที่คนไทยก็เคยทำมา แต่เดี๋ยวนี้ได้เลือนหายไปแล้ว นอกจากนี้ญี่ปุ่นก็อาศัยอยู่ในบ้านที่เปิดโล่ง ปลอดโปร่ง รับลม ถ่ายเทอากาศได้ดีมาก จะนั่งกับพื้นเวลาอยู่ในบ้าน เวลานอนก็จะปูที่นอนกับพื้นและเก็บที่นอนเมื่อตื่น ไม่มีห้องนอนประจำแบบฝรั่ง กินข้าวเป็นอาหารสำคัญเช่นเดียวกับคนไทย คนอายุน้อยให้ความเคารพผู้ใหญ่เหมือนดั่งคนไทย ในด้านความแตกต่างก็มีอยู่อีกมาก เช่น เวลาแสดงอารมณ์ดีใจหรือเสียใจ    เป็นต้นว่าดีใจแล้วไม่แสดงออก แต่ถ้าเสียใจหรือไม่แน่ใจก็มักจะหัวเราะ แต่เหตุจูงใจที่สำคัญนั้นอยู่ที่ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งมีความละม้ายคล้ายคลึงและความแตกต่าง คือ ทั้งญี่ปุ่นและไทยนั้นเป็นชาติเอกราชเหมือนกัน แต่เหตุใดญี่ปุ่นจึงได้ก้าวหน้าออกไปโดยเร็วและมีความเจริญมากกว่าประเทศไทยเป็นหนักหนา นี่คือเหตุจูงใจอันสำคัญที่ผู้เขียนสนใจในญี่ปุ่น

ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้ :
                คนเราไม่ควรจะลืมเลือนสิ่งที่เราเคยปฏิบัติกันมา ไม่ว่าจะเป็นการไหว้เมื่อกินข้าวเสร็จ หรือการเก็บที่นอนเมื่อตื่น ซึ่งในปัจจุบันคนเรามักจะละเลยสิ่งเหล่านี้


. เกาะญี่ปุ่นและคนญี่ปุ่น
สรุปเนื้อหา :
                ประเทศญี่ปุ่นตั้งอยู่บนเกาะสี่เกาะ นั่นคือ ฮกไกโด ฮอนชู ชิโกกุและกิวชู ซึ่งอยู่ในมหาสมุทรทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของแผ่นดินใหญ่ในทวีปเอเชีย จากทิศเหนือไล่ลงมาทิศใต้ตามลำดับ
                อย่างไรก็ตามเกาะญี่ปุ่นจะต้องมีดิน ฟ้า อากาศที่ดีพอสมควร จึงจะสามารถสร้างวัฒนธรรมอันเป็นของตนเองและมีศิลปะอันวิจิตรสวยงามของตนเองได้ ประเทศญี่ปุ่นนั้นมีพื้นที่เป็นภูเขาเสียส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งของกำลังน้ำอันสำคัญเพราะภูเขาจะทำให้มีฝนตกมาก ญี่ปุ่นจึงใช้กำลังน้ำจากภูเขาสร้างไฟฟ้าและเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ
                ประวัติของชาวญี่ปุ่นนับถอยหลังไปร่วมสองพันปีมีเรื่องเล่าหรูหราน่าฟังว่า มีเทพบุตรและเทพธิดานามว่า อิซานางิและอิซานามิจุติขึ้นมา และเทพบุตรและเทพธิดานี้เสพย์ประเวณีกันจนบังเกิดเป็นเกาะญี่ปุ่นขึ้นมา แล้วจึงเกิดพระอาทิตย์ พระจันทร์และเทพยดาต่างๆ ด้วยเหตุผลที่ว่ามานี้คนญี่ปุ่นจึงเป็นเทวดาโดยชาติกำเนิดและเมืองญี่ปุ่นนั้นเขาถือว่าเป็นเมืองเทวดา เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า ชิงโกกุหรือกามิโนะ กุนิ แปลว่า ดินแดนแห่งเทวดา ทั้งหมดนี้ปรากฏอยู่ในพงศาวดารญี่ปุ่นสองฉบับ ฉบับแรกเรียกว่า โกจิกิ และฉบับที่สองเรียกว่า นิฮอนกิ
                แต่ข้อสันนิษฐานตามตำราฝรั่งบอกว่า เกาะญี่ปุ่นแต่เดิมมีชนพื้นเมืองอาศัยอยู่ เรียกว่า ชาวไอนุ ซึ่งมีบรรพบุรุษร่วมกันกับฝรั่ง ต่อมาเมื่อราวๆสองพันปีได้มีชนชาติอื่นอพยพเข้าไปตั้งอยู่ในเกาะญี่ปุ่น พวกหนึ่งคือมองโกลอพยพผ่านจีนและเกาหลี ชนชาติไอนุถึงแม้จะมีส่วนเป็นบรรพบุรุษของญี่ปุ่น แต่ก็มิได้ทิ้งมรดกในทางวัฒนธรรมไว้แก่ญี่ปุ่น นอกจากมรดกทางกายอันได้แก่หนวดเครา ชนเผ่าที่ข้ามมาจากเกาหลีนั้นมีจำนวนมาก คนพวกนี้เคยอยู่ใกล้ชิดกับจีนจึงได้รับวัฒนธรรมมามาก ที่สำคัญที่สุดคือการถือแซ่และการสืบแซ่ ในราวๆ พ.. ๘๐๐ คนพวกนี้ก็ได้เข้าครองญี่ปุ่น โดยแต่ละแซ่ก็สร้างเมืองอยู่หลายสิบเกาะในญี่ปุ่น แต่ละเมืองก็มีผู้สืบตระกูลเป็นหัวหน้าแซ่ปกครอง คนที่อยู่ในชนชั้นปกครองก็คือ ผู้ถืออาวุธขี่ม้ามีอาชีพทางรบพุ่ง ต่อมานักรบพวกนี้ก็มีอิทธิพลและอำนาจในสังคมและการปกครองในญี่ปุ่น เรียกกันภายหลังว่า ซามูไร มีอยู่แซ่หนึ่งซึ่งเมื่อแรกเริ่มตั้งอยู่ในเกาะกิวชูและต่อมาก็เรียกนามแซ่ของตนว่า ยามาโต คนแซ่ยามาโตนี้มีตำนานอยู่ว่าแซ่ของตนนี้สืบเชื้อสายมาจากพระอาทิตย์         (ซึ่งญี่ปุ่นถือว่าเป็นเทพธิดา) มีผู้คนมากกว่าแซ่อื่นๆ จนในที่สุดก็เป็นที่นับถือกันว่าเป็นใหญ่ในเกาะญี่ปุ่นตลอดจนในเกาหลีภาคใต้ ยามาโตนั้นได้รับความนับถือว่าเป็นใหญ่ในหมู่หัวหน้าแซ่และลัทธินับถือพระอาทิตย์ของแซ่ยามาโตก็แผ่ซ่านออกไป ในที่สุดก็ได้กลายเป็นลัทธิสูงสุดในศาสนาชินโตของญี่ปุ่น
                จากหัวหน้าแซ่ผู้ซึ่งเป็นเฮียกงใหญ่ของแซ่ยามาโต ผู้ได้เป็นใหญ่ในบรรดาหัวหน้าแซ่ทั้งปวงนั้น พระราชวงศ์ญี่ปุ่นก็ได้เกิดขึ้นและครองราชย์ในญี่ปุ่นสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้เป็นเวลาสองพันปีนับว่าเป็นวงศ์กษัตริย์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และการที่แซ่ยามาโตเริ่มมีวาสนาบารมีขึ้นก็เรียกได้ว่าเป็นการเริ่มต้นแห่งรัฐญี่ปุ่นหรือชาติญี่ปุ่น

ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้ :
                จงพอใจในสิ่งที่ตนมีหรือพอใจในสิ่งที่ตนได้มา และจงรักษาสิ่งนั้นไว้ไม่ว่าจะต้องการมันหรือไม่ก็ตาม

 . ชินโต
สรุปเนื้อหา :
                การนับถือศาสนาของคนญี่ปุ่นทั่วๆไปนั้น เรียกได้ว่าใกล้เคียงกับคนไทยที่สุดเพราะมีการนับถือทั้งทางพุทธและไสยคละกันไป กล่าวคือคนญี่ปุ่นนับถือพระพุทธเจ้าแต่ก็เซ่นไหว้ผีและบนบานศาลกล่าวต่อเทพยดา แม้แต่คำว่า บนนี้ก็ใช้ในลักษณะเดียวกัน เพราะพิธีญี่ปุ่นเรียกพิธี โอ-บนนั้นคือพิธีเซ่นผีบรรพบุรุษ ซึ่งทำกัน ๓ วัน ๓ คืน เสร็จพิธีก็มีการร่ายรำเรียกว่า บนโอโดริซึ่งเป็นการรำแก้บนคนญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นแยกทางแห่งความนับถือออกเป็นสองคือ ทางพุทธทางหนึ่ง ซึ่งญี่ปุ่นเรียกว่า     บุตสุโด แปลตรงๆว่าทางพุทธ และทางไสยอีกทางหนึ่ง ซึ่งญี่ปุ่นเรียกว่า ชินโต แปลว่าทางของเทพยดาทั้งสองทางนี้ญี่ปุ่นส่วนมากก็นับถือร่วมกันไปเช่นเดียวกับคนไทย ลัทธิชินโตเกิดจากความเกรงภัยของมนุษย์ ในเบื้องแรกสิ่งใดที่มีลักษณะแปลกประหลาด เรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า กามิซึ่งตามศัพท์แท้ๆ แปลว่า ของสูงหรือของขลัง ลัทธิเช่นนี้ในเมืองไทยก็มีมาตั้งแต่เดิม เมื่อความนับถือเกิดขึ้นแล้วก็ย่อมจะเซ่นสรวงบูชา
                นอกจากวัตถุธรรมชาติต่างๆเหล่านี้แล้ว ชินโตยังนับถือเจ้าหรือผีต่างๆอีกหลายชนิด ผีอย่างแรกที่พอจะเรียกเป็นภาษาไทยโบราณได้ว่า ผีฟ้าคือเทวดาต่างๆอันมีพระอาทิตย์ พระจันทร์ตลอดจนอากาศเทวดา รุกขเทวดาต่างๆ ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดอาการธรรมชาติต่างๆ เป็นต้นว่า แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ฯลฯ นอกจากผีฟ้าแล้ว ชินโตยังมีผีอีกสามชนิด ซึ่งพอจะแยกออกได้เป็น ผีเรือน” “ผีเมืองและ ผีหลวง

ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้ :
                คนเราต้องมีความกตัญญูต่อชาติพันธุ์ของตนเอง และต้องรักษาและสืบทอดสิ่งที่คนโบราณได้ทิ้งไว้ให้เรา


. ภักดีสาม
สรุปเนื้อหา :
                ศาสนาชินโตนั้นมีข้อกำหนดแต่ในเรื่องพิธีการและการปฏิบัติตนตามขนบธรรมเนียม ไม่มีการสอนบาปบุญคุณโทษ ไม่บอกนรกสวรรค์ และไม่ชี้ทางแห่งการรอดพ้นจากสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่พึงปรารถนา แต่ถึงอย่างนั้นผลโดยตรงแห่งพิธีการของชินโตนั้นเองก็ทำให้เกิดภักดีสามขึ้นในใจของคนญี่ปุ่น คือ ความรักภักดีต่อครอบครัว ความภักดีต่อชุมชน และความภักดีต่อรัฐอันแสดงออกด้วยองค์พระจักรพรรดิ
                ภายในครอบครัวนั้น พิธีไหว้ผีเรือนหรือผีบรรพบุรุษเป็นสาระอันสำคัญที่สุดของชินโต ชินโตสอนให้เชื่อว่าความสุขและโชคชะตาอันดี ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติถูกต้องตามพิธีการนับถือบรรพบุรุษอย่างเคร่งครัดนั่นเอง คนสำคัญในการปฏิบัติตามพิธีนี้ก็คือหัวหน้าครอบครัวซึ่งเป็นผู้ชาย เพราะต้องมีทายาทสืบเชื้อสายต่อไปและคอยปฏิบัติตามพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษต่อไปห้ามขาด แต่ถ้าเมียเป็นหมันหรือไม่มีลูกผู้ชายก็สามารถหย่าหรือมีเมียน้อยได้ แต่ถ้ายังไม่สามารถมีลูกผู้ชายได้อีกก็สามารถที่จะรับลูกผู้อื่นมาเป็นลูกบุญธรรมได้ ด้วยเหตุนี้ผู้ชายจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในครอบครัวญี่ปุ่น ฐานะของผู้หญิงในครอบครัวถึงต่ำกว่าฐานะของผู้ชาย
                ในลัทธิความเชื่อเช่นนี้ หัวหน้าครอบครัวที่เป็นผู้ชายจึงเป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่สุดและมีอำนาจสูงสุดในครอบครัว ภรรยาต้องเคารพเชื่อฟังสามียิ่งกว่าผู้ใดทั้งหมด บุตรต้องเคารพเชื่อฟังบิดามารดา น้องต้องเคารพเชื่อฟังพี่ บ่าวต้องเคารพเชื่อฟังนาย ความภักดีและความเคารพเชื่อฟังนี้เป็นไปตามลำดับอาวุโส ฐานะหน้าที่และภาระของภรรยาญี่ปุ่นนั้นเป็นเรื่องที่น่าสงสารมาก ภาวะของสตรีญี่ปุ่นตามประเพณีดั้งเดิมของญี่ปุ่นคือการอยู่ใต้บังคับของผู้ชายโดยสิ้นเชิง ผู้หญิงญี่ปุ่นมิได้อยู่ใต้บังคับแต่เพียงบิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ยังอยู่ใต้บังคับของคนทุกคนในครอบครัวที่เป็นผู้ชาย แม้แต่ผู้ชายนั้นจะเป็นน้องหรือหลานของตนเอง
                หัวหน้าครอบครัวของญี่ปุ่นนั้นมีอำนาจเหนือคนในครอบครัวก็จริง แต่การใช้อำนาจนั้นต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของครอบครัวเท่านั้น เพราะระบบของครอบครัวของลัทธิชินโต นั้นกำหนดให้การกระทำทุกอย่างเป็นไปเพื่อประโยชน์และความศักดิ์สิทธิ์ของครอบครัว มิใช่มุ่งหมายที่จะส่งเสริมบุคคล ในกฎหมายเก่าของญี่ปุ่นพ่อบ้านไม่สามารถขายทรัพย์สินของครอบครัวหรือเอาทรัพย์สินนั้นไปยกให้แก่ผู้อื่นได้ สรุปแล้วอำนาจของพ่อบ้านนั้นมีไว้เพื่อประโยชน์และความเจริญ ความยั่งยืนของครอบครัวเป็นส่วนรวมโดยแท้ มิได้มีไว้เพื่อประโยชน์อันเป็นส่วนตัวของใครเลย ทุกวันนี้กฎหมายญี่ปุ่นให้สิทธิเสรีภาพแก่คนทุกคนเสมอกัน พ่อบ้านไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะบังคับคนในครอบครัวของตนได้เหมือนแต่ก่อน แต่ก่อนนั้นพ่อบ้านสามารถนำลูกสาวไปขายล้างหนี้หรือเป็นโสเภณีนางบำเรอได้ แต่ในปัจจุบันการซื้อขายคนและโสเภณีตามกฎหมายนั้นไม่มีอีกแล้ว

ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้ :
                ไม่ว่าจะชาติ หรือศาสนาใดก็ต้องอยู่กรอบประพฤติของความดี ไม่ใช้อำนาจที่มีอยู่ในมือในทางที่ผิด เคารพผู้ที่มีอายุมากกว่าและควรให้เกียรติผู้หญิง


. บูชิโด
สรุปเนื้อหา :
                คำว่าบูชิโด แปลว่า หนทางของนักรบ หมายถึงความกล้าหาญเสียสละ แต่ความกล้าหาญเสียสละนี้เกิดจากภักดีอีกสองประการ คือ ความภักดีต่อสังคมที่ตนอยู่ ความภักดีอีกอย่างคือความภักดีต่อชาติ การประพฤติผิดระเบียบแบบแผนหรือประเพณีในรอบครัวนั้นถือกันว่าเป็นการผิดผี ผู้ใดประพฤติผิดประเพณีผู้นั้นก็ผิดศีลธรรม แต่การผิดประเพณีหรือผิดศีลธรรมนี้ไม่มีบาปบุญคุณโทษแบบในศาสนาพุทธ ผู้ที่กระทำผิดนั้นจะถูกตัดออกจากทางสังคมทั้งในทางความสัมพันธ์ทางใจและทางอื่นๆ การลงโทษด้วยวิธีนี้จึงเป็นที่เกรงขามและมีผลในทางป้องกันความผิดต่างๆได้จริงจังด้วย
                เมื่อสังคมมีอำนาจอันน่าเกรงขามเช่นนี้ คนทั้งปวงก็ต้องเกรงกลัวและมีความภักดีอย่างหนาแน่น ความภักดีเช่นนี้มีหนักแน่นสุดในหมู่นักรบ ซึ่งสังคมญี่ปุ่นโบราณถือว่าเป็นผู้มีเกียรติสูงและต้องรักษาไว้ให้มั่นคง ทั้งนี้คือบูชิโดในภาษาญี่ปุ่นนักรบที่บริบูรณ์ด้วยความภักดีนั้นมีสิทธิต่างๆหลายอย่างในสังคมและมีเจ้าขุนมูลนายซึ่งคุ้มครองตลอดจนเลี้ยงดูตน นักรบที่มีเจ้าขุนมูลนายนี้เรียก ซามูไร ส่วนนักรบที่หาเจ้าขุนมูลนายไม่ได้เรียกว่า โรนิน
                การกระทำ ฮาราคีเป็นส่วนหนึ่งของบูชิโด เพราะฮาราคีมีความหมายลึกซึ้งกว่าการฆ่าตัวตายมากนัก จะต้องกล่าวว่าฮาราคีคือการปลงอาบัติของนักรบญี่ปุ่นในสมัยโบราณ ญี่ปุ่นที่เป็นซามูไรนั้นหากกระทำผิดด้วยประการใดๆก็จะเสียเกียรติไปชั่วกัลปาวสาน หากไม่ทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อกู้เกียรติหรือเพื่อปลงอาบัติให้สิ้นไปแล้ว หากตายลงด้วยเหตุธรรมชาติหรือถูกผู้อื่นฆ่าตาย ชื่อเสียงที่เสียไปนั้นจะไม่มีทางได้กลับคืนมา แต่ถ้าหากกระทำให้ตัวตายโดยการทำฮาราคีแล้วความผิดพลาดทั้งปวงจะได้รับอภัย ชื่อเสียงเกียรติยศก็จะกลับคืนมาสู่ตนและวงศ์ตระกูล
                ฮาราคีหรือเซ็ปปุกุที่เรียกนั้น แปลตรงๆว่า คว้านท้อง มีมานานแล้ว แต่ก่อนดูเหมือนจะไม่จำกัดผู้ที่ทำฮาราคีได้ ต่อมาจำกัดให้เหลือแค่นักรบ ผู้หญิงไม่ทำฮาราคีเป็นอันขาด แต่มีการกระทำที่ตรงกันคือเชือดคอตาย การทำฮาราคีเป็นพิธีการอันเปิดเผย ผู้ทำต้องกระทำต่อหน้าญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง ก่อนทำพิธีผู้ทำต้องชำระตนเองให้ปราศจากมลทิน นุ่งขาวห่มขาว และนั่งลงบนที่ซึ่งเตรียมไว้ มีคนสนิทคนหนึ่งถือดาบรออยู่ เมื่อถึงเวลาผู้ทำฮาราคีจะเอามีดดาบขนาดสั้นแทงที่ท้องน้อยตนตรงด้านซ้าย ขั้นที่สองก็คือลากมีดดาบที่แทงไว้ทางซ้ายนั้นผ่านหน้าท้องมาทางขวา ใช้คมมีดผ่าหน้าท้องให้เปิดออกไส้อาจไหลออกมาได้ เมื่อได้ดึงมีดมาทางขวาแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี ถ้าตายตอนนี้ก็แล้วไป แต่ส่วนมากนั้นไม่ตาย ต่อไปจึงเป็นหน้าที่ของคนสนิท ที่ญี่ปุ่นเรียกว่า ไกชากุ แปลว่าผู้ช่วย จะต้องใช้ดาบตัดคอผู้ทำฮาราคีให้ตายเสียเพื่อให้พ้นจากความทรมาน
                ในปัจจุบันนี้ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดทำฮาราคี แต่มักจะฆ่าตัวตายอย่างไม่เป็นพิธี พิธีฮาราคีครั้งสุดท้ายมีเมื่อ พ.. ๒๔๕๕ คือนายพลเอกโนงิ ในปีนั้นเล่ากันว่าท่านนายผลผู้นี้เมื่อได้คว้านท้องตนเองแล้วยังใช้มีดดาบนั้นเชือดคอตนเองอีกด้วย ส่วนภรรยาท่านนายพลก็ได้เชือดคอตายพร้อมกันในห้องอีกห้องหนึ่งซึ่งอยู่ติดกันอีกด้วย ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ญี่ปุ่นจะไม่ทำฮาราคีแล้ว แต่คำว่าฮาราคียังอยู่ตลอดไปเพราะความหมายของบูชิโดและฮาราคียังฝังแน่นอยู่ในใจของคนญี่ปุ่น

ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้ :
                ทุกคนควรมีความรักชาติและมีความกล้าหาญ แต่จะไม่กล้าหาญในทางที่ผิด เมื่อทำผิดก็ต้องรู้จักยอมรับความผิดที่ตนได้ก่อขึ้นมา และห้ามทำผิดประเพณีและศีลธรรม


 . บุตสุโด
สรุปเนื้อหา :
                บุตสุโด นั้นแปลว่า ทางพุทธหรือพระพุทธศาสนา หนังสือที่เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นนั้น ถ้าหากไม่ได้กล่าวถึงพระพุทธศาสนาเสียเลยก็จะต้องเรียกได้ว่าเป็นหนังสือที่ไม่สมบูรณ์ เพราะพระพุทธศาสนาได้กล่อมเกลาจิตใจของชาวญี่ปุ่นมาช้านาน ในประเทศญี่ปุ่นทุกวันนี้มีนิกายในศาสนาพุทธอยู่ถึง ๑๒ นิกาย แต่ทุกนิกายก็ยังมั่นในสรณะเดียวกันคือพระรัตนตรัย
                พระพุทธศาสนาได้เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานแล้วได้ ๑๐๙๕ ปีใน พ.. ๑๐๙๕ ในสมัยนั้นศาสนาพุทธในญี่ปุ่นยังมีแต่นิกายเดียวคือ มหายามิกะ หรือ มหายาน เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า ซังรงชู เมื่อได้คำนึงถึงความเชื่อถือ ความยึดมั่นและคติในพิธีการและประเพณีต่างๆของลัทธิชินโต อันเป็นพื้นฐานแห่งจิตใจของคนญี่ปุ่นมาแต่ดั้งเดิม ก็ดูยิ่งน่าอัศจรรย์ที่ศาสนาพุทธสามารถเข้าไปตั้งตนลงรากฐานในประเทศญี่ปุ่นจนแผ่ไพศาลออกไปได้ แต่เมื่อคิดอีกทีว่าศาสนาพุทธที่ได้เข้าไปในประเทศญี่ปุ่นนั้น เป็นศาสนาพุทธนิกายมหายาน ซึ่งมีทรรศนะอันกว้างขวางเกี่ยวกับการนับถือเทพยดาและภูติผีปีศาจอยู่แล้วประการหนึ่ง การปฏิบัติตามลัทธิใดๆที่ศาสนาพุทธเห็นว่าไม่เป็นภัยก็มิได้ขัดขวาง ด้วยเหตุต่างๆ ท่านที่ได้ประกาศพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่นเมื่อ ๑๕๐๐ ปีมาแล้ว จึงมิได้กระทำอันใดที่กระทบกระเทือนต่อความนับถือของคนญี่ปุ่นต่อเทพยดาที่เคยนับถือกันมาตั้งแต่ก่อน
                อย่างไรก็ตามพระพุทธศาสนาได้นำเอาดวงประทีปแห่งมนุษยธรรมเข้าสู่ญี่ปุ่น เป็นลัทธิใหม่ที่สอนให้คนมีเมตตากรุณาแก่กัน ไม่เบียดเบียนกัน หากจะพูดเป็นส่วนรวมแล้วพระพุทธศาสนาได้ประสิทธิ์ประสาทอารยธรรมให้แก่ญี่ปุ่น เติมเต็มความหมายของอารยธรรมทุกประการ ไม่มีขาดตกบกพร่อง ลัทธิชินโตและศาสนาพุทธก็เข้ากันได้สนิทบังเกิดเป็นระบบศาสนาใหม่ขึ้นในญี่ปุ่น ที่เรียกว่า รโยบุชินโต แปลเป็นไทยได้ว่า ชินโตทั้งสอง ในระบบศาสนาพุทธในญี่ปุ่นได้แยกออกเป็น ๒ นิกายใน พ.. ๑๑๖๗ คือ นิกาย เตนได อันมีพระมหาเถระชื่อ เดงกโย ไคชิ เป็นเจ้าคณะใหญ่ และนิกาย ชินงอน อันมีพระมหาเถระ ชื่อ โกโบไดชิ เป็นเจ้าคณะใหญ่ แต่คุณอันใหญ่ของศาสนาพุทธที่มีต่อประเทศญี่ปุ่นก็คือ การศึกษาสมณะในลัทธิชินโตนั้นมิได้เป็นครู ไม่มีความประสงค์ให้ความรู้หรือทำให้เกิดปัญญา แต่ศาสนาพุทธมีวัตถุประสงค์ให้คนเกิดปัญญา ต่อมาได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ โฮเน็น ได้ตั้งนิกายขึ้นนิกายหนึ่ง มีชื่อเรียกในญี่ปุ่นว่า ชินชู แปลเป็นไทยว่า นิกายแดนบริสุทธิ์ ครั้นถึง พ.. ๑๗๖๗ ศิษย์ของท่านโฮเน็น รูปหนึ่งชื่อพระภิกษุชินรัน ได้แยกออกไปตั้งนิกายขึ้นใหม่เรียกว่านิกาย ชินชูแท้ หรือแดนบริสุทธิ์แท้ อย่างไรก็ตามทั้งสองนิกายนี้ได้ออกจากรั้ววังและสังคมชั้นสูงไปสั่งสอนสามัญชนทั่วไป ด้วยภาษาธรรมดาสามัญชนที่คนทั่วไปจะเข้าใจง่าย เพื่อป้องกันมิให้การศึกษาพระพุทธศาสนาถูกจำกัดวงแคบ
                นิกายที่เผยแพร่ในหมู่สามัญชนได้ตั้งขึ้นอีกนิกายหนึ่งโดยพระเถระชื่อ นิจิเร็น และนิกายนี้ก็ใช้นามของท่านเรียกกันต่อมา แต่ในขณะที่นิกายของประชาชนกำลังเผยแพร่และให้การศึกษาแก่ประชาชนอยู่นี้ ชนชั้นสูงของญี่ปุ่นผู้ซึ่งมีการศึกษาอยู่แล้วได้หันเข้าหาพระพุทธศาสนาอีกนิกายหนึ่ง ซึ่งได้เข้ามาสู่ญี่ปุ่นจากเมืองจีนในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ นิกายนี้คือนิกาย เซน ซึ่งคำว่า เซนนั้นคือเสียงเพี้ยนของคำว่า ฌาน เนื่องด้วยลัทธิเซนถือเอาฌานเป็นใหญ่ นิกายนี้จึงมุ่งที่จะถึงปัญญาสัมปธาน ด้วยฌานแต่อย่างเดียว ไม่นิยมที่จะให้ถึงปัญญาด้วยการศึกษาหรือด้วยเหตุผล ในขณะที่พระพุทธศาสนานิกายต่างๆได้ใกล้ชิดกับประชาชน กำลังสอนให้คนทั่วไปอ่านเขียนหนังสือ พระพุทธศาสนาอีกส่วนหนึ่งคือลัทธิเซนก็ได้ให้ความสำรวมแก่ปัญญาชน หรือชนชั้นสูงให้มีความสำรวมในปัญญา ความคิดทั้งสองทางนี้เมื่อประกอบกันเข้าก็ได้ส่วนสมดุล ชนทั่วไปก็มีความกระตือรือร้นที่จะเก้าหน้า แต่ชนชั้นนำมีความสุขุมรอบคอบ สภาพทางจิตใจส่วนรวมอันเกิดจากการอบรมของศาสนาพุทธนี้ได้มีผลทำให้ญี่ปุ่นก้าวหน้าไปสู่ความเจริญได้เร็วกว่าชาติอื่นในเอเชียสมัยหนึ่ง

ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้ :
                เราไม่ควรจะลืมประเพณีเก่า และต้องรู้จักสามัคคีกัน ต้องรู้จักศึกษาหาความรู้และต้องสุขุมรอบคอบ คิดให้ดีก่อนจะทำสิ่งใด


. รากฐานแห่งสังคมญี่ปุ่น
สรุปเนื้อหา :
                ในขั้นแรกสังคมญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น อุจิ ต่างๆ คำกล่าวว่าอุจินี้ได้เรียกว่า แซ่ ในบรรดาอุจิต่างๆซึ่งตั้งอยู่ในญี่ปุ่น และต่างก็มีอำนาจปกครองตนเองเหมือนกับครอบครัวใหญ่ๆนั้น มีอยู่ อุจิหนึ่งซึ่งมีอำนาจมากกว่าอุจิอื่น เพราะถือว่าสืบวงศ์มากจากเทพยดาต่างๆ ความผูกพันในสังคมของญี่ปุ่นในสมัยโบราณก็คือสายโลหิต ความผูกพันทางใจทำให้คนเคารพเชื่อฟังซึ่งกันและกัน ก็คือผีบรรพบุรุษและความรู้สึกว่าเป็นชาติเดียวกัน ก็เกิดจากความผูกพันต่อผีหลวง คือปฐมวงศ์ของพระเจ้าจักรพรรดิ พระเจ้าจักรพรรดิจึงทรงเป็นผู้ที่อยู่สุดยอดของสังคมญี่ปุ่น รองจากพระเจ้าจักรพรรดิลงมาก็มีชนชั้นต่างๆชั้นสูงสุดก็คือ ชนชั้นที่เรียกว่า กุเง คือพวกผู้ดีตระกูลเก่าๆ รองจากชนชั้นกุเง ลงมาก็คือ ชนชั้น บุเก ชนชั้นนี้คือนักรบ มีชื่อเรียกหลายชื่อ ซามุราฮิ หรือ ซามูไร ถัดจากนั้นก็คือสามัญชนทั่วไป และสามัญชนทั่วไปนั้นแบ่งได้เป็นสามชั้นคือ ชาวนา ช่างฝีมือ และพ่อค้า ชาวนา
                นอกเหนือจากชนชั้นต่างๆที่ได้กล่าวมายังมีชนอีกจำพวกหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนมากมายแต่ต้องอยู่นอกสังคมเพราะญี่ปุ่นไม่ถือว่าคนจำพวกนี้เป็นญี่ปุ่น คนจำพวกนี้เรียกกันว่า พวกโจริ มีฐานะเช่น เดียวกับพวกจัณฑาลในอินเดียหรืออาจต่ำกว่านั้นก็ได้ พวกโจรินี้หาเลี้ยงชีพได้ด้วยงานชั้นต่ำหรืองานซวย ญี่ปุ่นแท้ไม่ปรารถนาที่จะทำ เช่น งานสัปเหร่อ ขุดหลุมฝังศพ ขุดหลุม ขุดบ่อน้ำ กวาดถนน เป็นต้น คนนอกสังคมอีกชนิดหนึ่งในเมืองญี่ปุ่นสมัยโบราณก็คือคนที่เรียกว่า ฮินิน คนที่เป็นฮินินนี้ได้แก่ ขอทาน หมอลำ ละคร หญิงโสเภณีบางจำพวก และบุคคลที่ถูกขับออกจากสังคม อีกส่วนหนึ่งก็คือสมณะ ซึ่งในที่นี้ก็หมายถึงสมณะในพระพุทธศาสนาซึ่งมีจำนวนมากมาย ทั้งที่พระพุทธศาสนาได้ให้ความรู้ แต่สงฆ์ในญี่ปุ่นนั้นควบคุมกันไม่ติดเพราะแตกแยกกันออกเป็นหลายนิกาย พระญี่ปุ่นในสมัยนั้นถืออาวุธและออกรบทำสงครามกันระหว่างนิกาย

ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้ :
                ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรเราก็ไม่ควรจะดูถูกกันเพราะเราก็ยังเป็นคนเหมือนกันและไม่ควรแบ่งชนชั้นหรือแบ่งแยกศาสนา
. เทวดาและทหาร
สรุปเนื้อหา :
                พระเจ้าจักรพรรดิญี่ปุ่นนั้นทรงเป็นเทพยดาในความเชื่อถือของคนญี่ปุ่นสมัยก่อน เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิเป็นเทวดา เมืองญี่ปุ่นก็มีเทวดาปกครอง มีฐานะยิ่งใหญ่กว่าประเทศอื่นใดในโลก เมืองญี่ปุ่นจึงจะขาดพระจักรพรรดิเสียมิได้ แต่พระเจ้าจักรพรรดิก็มิได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน จึงไม่มีอำนาจปกครองประเทศ ปกครองเฉพาะอาณาเขตที่พระองค์เป็นเจ้าของที่ดิน คือ รอบๆเมืองหลวงเท่านั้น ตระกูลฟูจิวาระ ซึ่งเป็นขุนนางตระกูลเก่าได้เข้ามาควบคุมอำนาจของพระเจ้าจักรพรรดิได้โดยเด็ดขาด โดยให้สตรีในตระกูลเข้าเป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ อำนาจในการปกครองและในทางทหารก็หย่อนลงทุกที ในพุทธศตวรรษที่ ๑๕ และ ๑๖ นั้น ญี่ปุ่นเกิดจลาจลแตกแยกออกเป็น ๑๐๐ ก๊ก ในตอนปลายศตวรรษที่ ๑๗ พวกทหารก็ได้รวมตัวกันเป็นสองก๊กใหญ่และทำสงครามแก่กันสองครั้ง ครั้งสุดท้ายใน พ.. ๑๗๐๓ ตระกูลตาอิระเป็นผู้ชนะ แต่ต่อมาตระกูลมินาโมโตะได้เข้าทำสงครามและยึดอำนาจคืน
                เมื่อได้รับชัยชนะ โยริโตโมะ มินาโมโตะ หัวหน้าก๊กก็ตั้งกองทัพที่เมือง กามากุระ ก็ไม่ยุ่งเกี่ยวกับพระเจ้าจักรพรรดิและพวกฟูจิวาระ แต่ได้ตั้งตนเองขึ้นเป็น โชกุน ฉะนั้นโชกุนคนแรกของญี่ปุ่นก็คือ โยริโตโมะ มิยาโมโตะ ผู้รบชนะข้าศึกในสงครามการเมือง และมีกำลังทหารสูงสุดในญี่ปุ่น ในที่สุดชนชั้งต่างๆในญี่ปุ่นก็เคารพและยอมรับระบบการปกครองโดยโชกุน ระบอบกามากุระเป็นระบอบการปกครองโดยทหารในญี่ปุ่น แต่อำนาจทหารนั้นได้เสื่อมลงในที่สุด เมื่อระบอบกามากุระนั้นก็เริ่มจะสั่นคลอน พระเจ้าจักรพรรดิในระหว่างนั้นคือพระเจ้าไดโงะได้ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลที่กามากุระใน  พ.. ๑๘๓๔ โดยมีพระราชประสงค์ที่จะครองแผ่นดินจริงๆ
                ในระหว่างที่บ้านเมืองระส่ำระสายนี้เอง ผู้มีอำนาจได้เกิดขึ้นอีกชุดหนึ่งในญี่ปุ่นและได้เข้าแทนที่ทหาร ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ไดมโย พวกไดมโยก็เริ่มมีอำนาจวาสนาขึ้น เกลี้ยกล่อมทหารและราษฎรให้ภักดีต่อตนมากกว่าพระเจ้าจักรพรรดิ ในระยะเวลา ๒๐๐ ปีระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และ ๑๙ นั้น ประเทศญี่ปุ่นแตกฉานออกเป็นบ้านเล็กเมืองน้อย ไม่มีผู้ใดมีอำนาจปกครองได้ทั่วประเทศ  พระเจ้าจักรพรรดิและราชตระกูลต้องตกระกำลำบากเป็นอย่างยิ่งในยุคนี้เพราะที่ดินอันเป็นพระราชสมบัตินั้นถูกเจ้าเมืองยึดเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสียหมด ในระยะ ๒๐๐ ปีนี้ ญี่ปุ่นเกิดจลาจลทั่วไป โชกุนในยุคนั้นเสื่อมอำนาจลงจนต้องยอมส่งบรรณาการไปจิ้มกองพระเจ้ากรุงจีน                                     ในช่วงเวลา ๒๐๐ ปีนั้นเป็นเวลาที่ญี่ปุ่นตกอับเป็นที่สุด แต่ของทุกอย่างเมื่อมีเสียก็ย่อมจะมีดี โดยพระพุทธศาสนานิกายเซนเป็นผู้ส่งเสริม คือทำให้มีการถ่ายเทศิลปวัฒนธรรมจากจีนมาสู่ญี่ปุ่น แล้วมาดัดแปลงให้เป็นญี่ปุ่นมากขึ้น การจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น ซึ่งมีชื่อเสียงในโลกและพิธีการรินน้ำชาก็เกิดขึ้นจากนิกายเซนในสมัยนี้เช่นเดียวกัน

ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้ :
                ต้องรักคนในชาติและมีความสามัคคีกันในชาติ ต้องรู้จักเสียสละให้ผู้อื่น

 . รวมชาติ
สรุปเนื้อหา :
                บุคคลแรกที่มีชื่อจารึกว่าเป็นผู้รวมญี่ปุ่นให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันคือ โอดะโนบุนางะ ท่านผู้นี้เป็นไดมโยคนหนึ่ง ปกครองหัวเมืองสามหัวเมืองอยู่ในบริเวณที่เป็นเมืองนาโงยาในปัจจุบันนี้ แต่โนบุนางะก็มิได้อยู่รวบรวมญี่ปุ่นทั้งประเทศให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะถูกขุนนางคนหนึ่งลอบฆ่าตายใน พ.. ๒๑๒๕ เมื่อโนบุนางะถึงแก่กรรมแล้วไม่นาน แม่ทัพของโนบุนางะคนหนึ่งชื่อ ฮิเดะโยชิ ก็เข้าสรวมตำแหน่งแทน แต่ฮิเดะโยชินั้นแตกต่างกับโนบุนางะตรงที่ว่ามิได้คิดจะเป็นแค่เจ้าเมือง แต่คิดที่จะครองโลก เมืองญี่ปุ่นจึงเริ่มจะดูเล็กไปสำหรับฮิเดะโยชิผู้ยิ่งใหญ่ ฮิเดะโยชิก็เริ่มคิดมักใหญ่ใฝ่สูง อยากจะตีเมืองจีนเอามาเป็นเมืองขึ้น ฮิเดะโยชิจึงได้ส่งทูตไปเกาหลีเพื่อขอยกทัพผ่านไปเมืองจีน เมื่อเกาหลีปฏิเสธฮิเดะโยชิก็ยกพลข้ามทะเลไปตีเกาหลีใน พ.. ๒๑๓๕
                กองทัพญี่ปุ่นได้ตีเกาหลีทั้งประเทศในเวลาอันรวดเร็ว แต่กองทัพจีนก็มาถึงเกาหลีเพื่อช่วยเกาหลีรบกับญี่ปุ่น จากนั้นสงครามก็ยืดเยื้ออยู่หลายปี ภายในประเทศก็เริ่มจะอดอยากขาดแคลน พอดีฮิเดะโยชิถึงแก่กรรมลงในเวลาหกปีต่อมา เมื่อฮิเดะโยชิถึงแก่กรรมลงแล้วบรรดาเจ้าเมืองก็เริ่มจะแยกเป็นก๊กเป็นเหล่า แต่มีคนสำคัญอยู่คนหนึ่งชื่อ อิเอะยะสุ โตกุงาวะ มีตำแหน่งข้าหลวงอยู่ในญี่ปุ่นตะวันออก อิเอะยะสุ ได้ตั้งที่มั่นขึ้นในตำบลเล็กๆ มีชื่อว่า เอโดะ อิเอะยะสุเป็นคนฉลาดทราบว่าการปกครองนั้นจะต้องอยู่ได้ยั่งยืนก็ด้วยระบอบมิใช่บุคคล อิเอะยะสุได้ปกครองให้ญี่ปุ่นมีความสงบและมีความเสถียรภาพอย่างไม่เคยมีมาก่อน ระบบนั้นชื่อว่า ระบบโตกุงาวะ อิเอะยะสุได้รับตำแหน่งโชกุนเมื่อ พ.. ๒๑๔๖ หลังจากที่ได้เป็นโชกุนสองปีก็ได้ลาออกจากตำแหน่ง แล้วตั้งบุตรชายขั้นเป็นโชกุนแทนตนเอง เมื่ออิเอะยะสุถึงแก่กรรมลงใน พ.. ๒๑๕๙ จึงไม่มีความผันผวนในทางการเมืองแต่อย่างใด
                การกระทำของระบอบโตกุงาวะ เรียกได้ว่าสำคัญและมีผลเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศตะวันตก แต่ความสัมพันธ์กับโปรตุเกสเริ่มจะลักษณะเปลี่ยนแปลงไป เมื่อบาทหลวงคณะ เยซูอิต มีนักบุญ ฟรานซิส ซาเวียร เป็นผู้นำ ได้ประกาศและเผยแพร่ศาสนาของพระเยซู ศาสนาพุทธได้ต่อต้านลัทธิศาสนาที่มาถึงใหม่อย่างหนัก เพราะพวกเจ้าเมืองและขุนนางเมืองเล็กได้เข้ารีตนับถือพระเยซูกันมากขึ้น ด้วยความรังเกียจศาสนาพระเยซูและความเกรงกลัวอิทธิพลของฝรั่ง ระบอบโตกุงาวะได้ประกาศเมืองญี่ปุ่นให้เป็นเมืองปิดตาย เมื่อ พ.. ๒๑๗๙ ไล่ฝรั่งออกจากประเทศจนหมดและห้ามคนญี่ปุ่นติดต่อค้าขายกับต่างประเทศโดยเด็ดขาด
                น่าประหลาดใจที่เหตุการณ์ในญี่ปุ่นและในเมืองไทยสมัยนั้นตรงกัน เพราะสมัยนั้นได้ขับไล่ฝรั่งและบาทหลวงออกจากเมืองไทยเช่นเดียวกันและปิดตายจนมาถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ และเริ่มติดต่อมีความสัมพันธ์กับฝรั่งจริงจังในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งก็ตรงกับเหตุการณ์ในญี่ปุ่นอีก ทำให้เห็นว่าทวีปเอเชียไทยกับญี่ปุ่นมีประวัติใกล้เคียงกันเป็นที่สุด

ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้ :
                อย่าทะนงตัวหรือมักใหญ่ใฝ่สูงจนเกินตัว และต้องรู้จักแบ่งปันให้ผู้อื่น

 ๑๐. การเปลี่ยนแปลงที่บังคับไม่ได้
สรุปเนื้อหา :
                สาเหตุที่ญี่ปุ่นพัฒนาเศรษฐกิจได้รวดเร็วกว่าไทย จะสังเกตได้จากการพัฒนาเศรษฐกิจในยุค  โตกุงาวะนี้ไว้เป็นพิเศษ ประวัติทางเศรษฐกิจทางญี่ปุ่นนั้นเริ่มจะมีลักษณะแตกต่างกับของไทยคือ ญี่ปุ่นนั้นพอปิดเมืองแล้วก็คือปิดเลย ส่วนไทยนั้นปิดเฉพาะฝรั่ง แต่ยังติดต่อค้าขายกับแขกและจีนซึ่งเป็นชาวเอเชียด้วยกัน นี่เป็นข้อแตกต่างข้อแรก ข้อแตกต่างประการที่สองคือ คนไทยได้ปล่อยให้คนต่างชาติเข้ามาทำรกรากได้ ชาวจีนได้เข้ามาทำมาหากินในเมืองไทยจำนวนมาก นอกจากนั้นก็มีชาวอินเดียและเปอร์เซียเข้ามาตั้งรกราก ตลอดจนมีผู้อพยพลี้ภัยจากประเทศใกล้เคียงเข้ามา เมืองไทยจึงมีผู้คนมากมายหลายชาติ แต่ญี่ปุ่นนั้นมีแต่ญี่ปุ่นล้วนๆ ข้อแตกต่างประการที่สามคือ พลเมืองญี่ปุ่นนั้นมีจำนวนมาก อยู่ในอัตราสูงตลอดมา คือประมาณ ๒๐-๓๐ ล้านคน แต่คนไทยมีแค่ ๕-๖ ล้านคน และข้อแตกต่างที่สำคัญที่สุด ญี่ปุ่นไม่เคยเสียเมืองให้ใครส่วนไทยนั้นเคยต้องเสียกรุงศรีอยุธยา
                คนไทยกับญี่ปุ่นโบราณมีทัศนะเหมือนกันในเรื่องการค้าขายคือเห็นว่าเป็นอาชีพที่ต่ำต้อย แต่ญี่ปุ่นไม่ปล่อยให้คนต่างชาติโดยเฉพาะคนจีนเข้ามาตั้งรกราก ภาระการค้าคนญี่ปุ่นก็ต้องทำกันเอง การค้าญี่ปุ่นโดยคนญี่ปุ่นจึงได้พัฒนาการมาสู่ความเติบใหญ่และมีความสำคัญ แต่ทางฝ่ายไทยเรานั้นเมื่อถือว่าการค้าขายเป็นอาชีพต่ำในสังคม คนไทยก็ไม่ปรารถนาจะยึดถือการค้าเป็นอาชีพ ปล่อยให้คนต่างด้าวเข้ามายึดอาชีพนั้นแทนคนไทย โดยเฉพาะคนจีน
                การพัฒนาเศรษฐกิจนั้นต้องอาศัยทุนเป็นปัจจัยสำคัญและแรงงานเป็นปัจจัยอีกอย่างหนึ่ง ญี่ปุ่นได้เปรียบไทยตรงที่มีพลเมืองมาก และมีดินฟ้าอากาสอยู่ในโซนหนาว เหมาะแก่การอุตสาหกรรม ญี่ปุ่นกับไทยนั้นเริ่มต้นด้วยมีหลายสิ่งหลายอย่างที่คล้ายคลึงกันมาก แต่พัฒนาการของญี่ปุ่นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างและปัจจัยเหล่านั้นเมืองไทยเราไม่มี แต่ก็ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ทำให้คนไทยเป็นคนไทยและอยู่ได้ด้วยกันอย่างเป็นสุขและปัจจัยเหล่านั้นญี่ปุ่นก็ไม่มี

ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้ :
                ต้องรู้จักพัฒนาและปรับตัวให้เค้ากับคนอื่น และต้องรู้จักทำมาหากิน ไม่เลือกงาน ขยันทำงาน

๑๑. แผ่นดินใหม่ ยุคใหม่
สรุปเนื้อหา :
                ตั้งแต่ พ.. ๒๓๔๐ เป็นต้นมา ฝรั่งชาติอังกฤษ รัสเซีย และอเมริกา ได้พยายามส่งคณะทูตไปเจรจาขอให้ญี่ปุ่นเปิดเมืองท่ารับเรือฝรั่งเป็นหลายครั้งหลายหน แต่รัฐบาลโชกุนที่เมืองเอโดะไม่ยอมเปิดให้ เมื่อการเจรจาโดยดีไม่สำเร็จอเมริกาก็ตัดสินใจใช้กำลังบังคับ ระบอบโตกุงาวะเห็นว่าไม่มีทางสู้แน่ก็เลยทำสัญญากับอเมริกัน เมื่อไม่สามารถจะต้านฝรั่งไว้ได้ระบอบโตกุงาวะก็เริ่มหมดรัศมีจะบัญชาสิ่งใดก็ไม่มีสิทธิขาดเหมือนแต่ก่อน และการสิ้นสุดแห่งระบอบโตกุงาวะใน พ.. ๒๔๑๐ ได้มีการผลัดแผ่นดินใหม่ พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์ใหม่นั้นทรงใช้พระนามแผ่นดินว่า เม็จจิ
                ประวัติของประเทศญี่ปุ่นในยุคนั้นเป็นประวัติแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วใน พ.. ๒๔๑๑ พระเจ้าเม็จจิได้ทรงรับบรมราชาภิเษก ในฐานะสมบูรณายาสิทธิราช และได้ทรงย้ายราชธานีจากเกียวโตมายังเมืองเอโดะ ทรงเปลี่ยนนามเมืองเอโดะเป็นเมือง โตกิโอ หรือ โตเกียว แปลว่า ราชธานีตะวันออก พอขึ้นอีกปีหนึ่งใน พ.. ๒๔๑๒ พวกซามูไร ที่เป็นผู้นำในการปกครองอยู่นั้น ก็ได้ยกเลิกการปกครองในระบอบโบราณโดยสิ้นเชิง รัชกาลของพระเจ้าเม็จจิเป็นเวลาถึง ๔๕ ปี และตลอดเวลานั้นญี่ปุ่นได้เรียนทุกอย่างจากฝรั่ง ความประสงค์ของญี่ปุ่นนั้นคือ เมื่อปรากฏว่าประเทศใดเป็นเยี่ยมในวิชาใด ก็ส่งนักเรียนไปเรียนเฉพาะแต่วิชานั้นในประเทศนั้น ทั้งญี่ปุ่นและไทยได้เปลี่ยนแปลงและสร้างความเจริญแบบตะวันตกให้แก่บ้านเมืองอย่างเร่งรีบ เหตุจูงใจที่ทำให้ทั้งไทยและญี่ปุ่นต้องทำดังนั้น คือ กลัวฝรั่งยึดเอาเมืองเอาไปเป็นเมืองขึ้น การเปลี่ยนแปลงและความเจริญทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นทั้งในเมืองไทยและเมืองญี่ปุ่นในสมัยนั้นบางอย่างก็มีผลยั่งยืนเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองเกินกว่าที่จะประมาณได้ แต่บางอย่างก็เป็นเรื่องผิวเผินทำเพื่อตบตาฝรั่งให้เห็นว่าเจริญแล้วเท่านั้นเอง แต่ผลสำเร็จจริงจังที่เกิดขึ้นนั้นก็คือทั้งไทยและญี่ปุ่นสามารถครองตัวเป็นเอกราชได้โดยตลอด
                ระบอบการปกครองญี่ปุ่นในรัชกาลพระเจ้าเม็จจิต้องเรียกว่าเป็นการปกครอง โดยหมู่คณะหรือคณาธิปไตยโดยแท้ ผู้ที่มีอำนาจในการปกครองได้แก่นายทหารซามูไร แต่ฝรั่งก็มิได้ยอมให้คนในบังคับฝรั่งขึ้นศาลญี่ปุ่น แต่ได้นำระบบศาลกงสุลเข้าไปใช้ในเมืองญี่ปุ่นเช่นเดียวกับที่เคยใช้มาแล้วในไทย ปัญหาขั้นต่อไปของรัฐบาลญี่ปุ่นในรัชกาลพระเจ้าเม็จจิ คือ ทำอย่างไรจึงจะเอาเอกราชทางศาลและการคลังกลับมาได้ วิธีแก้ปัญหาที่ญี่ปุ่นคิดออกคือ ต้องเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองให้ฝรั่งเข้าใจว่าเป็นประชาธิปไตย อิโตะผู้มีนามเต็มว่า อิโตะ ฮิโระบุมิ ได้ออกเดินทางไปศึกษาสถาบันทางการเมืองในหลายประเทศในทวีปยุโรป แต่ไปชอบใจหลักการปกครองของเยอรมันในสมัยนั้น เพราะเห็นว่าเหมาะสมกับญี่ปุ่นที่สุด จึงได้นำมาใช้กับญี่ปุ่น รัฐสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับนั้นเรียกว่า ไดเอ็ต ตามฉบับเยอรมันและมีอยู่สองสภาคือสภาบันดาศักดิ์ และสภาต่ำเรียกว่าสภาผู้แทน
                ผู้นำในการปกครองแห่งรัชสมัยของพระเจ้าเม็จจิได้แสดงความปรีชาสามารถของตนให้ปรากฏไว้ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นด้วย การเล็งเห็นความสำคัญแห่งการศึกษา เพื่อสร้างญี่ปุ่นที่จะเอาชนะฝรั่งได้ กระทรวงการศึกษาของญี่ปุ่นได้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.. ๒๔๑๔ แต่ภายในเวลาสองสามปี ญี่ปุ่นก็สามารถวางหลักสูตรการศึกษาของชาติได้แน่นอน แต่ในทัศนะของผู้นำประเทศญี่ปุ่นในสมัยนั้นการศึกษามิใช่ปัจจัยที่จะนำประชาชนพลเมืองไปสู่ชีวิตที่สมบูรณ์กว่าเก่าด้วยการพัฒนาทางใจของเยาวชน ด้วยเหตุนี้การศึกษาในญี่ปุ่นจึงเป็นเพียงเครื่องมือของรัฐบาลในอันที่จะอบรมพลเมืองให้ว่านอนสอนง่ายและไว้ใจได้ สิ่งที่ผู้ครองแผ่นดินญี่ปุ่นปลูกฝังลงไปในใจของประชาชนก็คือ ความเชื่อถือและความรู้สึกนึกคิดของตนเอง ทั้งที่ผิดและถูก ตลอดจนอารมณ์ต่างๆ เพราะผู้ครองแผ่นดินญี่ปุ่นในสมัยนั้นมีความรู้สึกทางชาตินิยมอย่างรุนแรง
                ในสมัยโตกุงาวะชนชั้นพ่อค้าของญี่ปุ่นได้ก้าวหน้าออกไปมาก แต่ญี่ปุ่นเริ่มติดต่อกับโลกภายนอกในการค้าขาย ก็ปรากฏความจริงขึ้นว่าทุนรอนของพ่อค้าญี่ปุ่นทั่วไปนั้นยังไม่พอ และเทียบบ่าเทียบไหล่กับต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลของพระเจ้าจักรพรรดิจึงได้เข้าช่วยเหลือจนทำให้กิจการต่างๆขยายตัวมากขึ้น
                เมื่อญี่ปุ่นเป็นชาติตะวันออกชาติแรกที่หันหน้าเข้าหาอุตสาหกรรมแบบฝรั่ง ญี่ปุ่นจึงอยู่ในฐานะที่ไม่เหมือนชาติใดในโลกเศรษฐกิจเพราะอัตราค่าแรงต่ำและมีความรู้ทางเทคนิคเทียบเท่ากับฝรั่ง ญี่ปุ่นจึงสามารถขาสินค้าได้มากกว่าของฝรั่ง ทำให้ญี่ปุ่นได้เปรียบมาก แต่ฐานะความเป็นอยู่ไม่ได้ดีขึ้นเพราะรัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายที่จะทำให้ญี่ปุ่นเป็นชาติมหาอำนาจ และประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ยุคต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เป็นยุคที่ฝรั่งชาติต่างๆกำลังคลั่งหาเมืองขึ้นในเอเชีย ญี่ปุ่นนั้นทีแรกก็กลัวฝรั่งจะยึดเป็นเมืองขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็อยากเป็นมหาอำนาจจึงเริ่มคิดที่จะมีเมืองขึ้นแบบฝรั่งบ้าง จึงเห็นว่าเกาหลีและจีนเป็นสองประเทศที่จะเบียดเบียนได้สะดวกใน พ.. ๒๔๑๔ ชาวไต้หวันซึ่งเป็นคนของคนจีนได้มาโจมตีชาวญี่ปุ่นที่เกาะริวกิว ญี่ปุ่นต้องเสียหายล้มตายไป แต่ญี่ปุ่นก็ยังนิ่งอยู่ จนถึง พ.. ๒๔๑๗ ญี่ปุ่นได้ส่งกองทัพไปไต้หวัน ญี่ปุ่นรบชนะ ฝ่ายจีนยอมใช้ค่าเสียหายให้แก่ญี่ปุ่น เท่ากับเป็นการยอมรับว่าเกาะริวกิวเป็นของญี่ปุ่น อีก ๒ ปีต่อมาญี่ปุ่นก็ไปทำกับเกาหลีแบบที่อเมริกาเคยทำ คือ ไปขู่เกาหลีให้เปิดประเทศและอีก ๒๐ ปีต่อมา ใน พ.. ๒๔๓๓ ญี่ปุ่นก็ทำสงครามกับจีนเพื่อยึดเกาหลี อ้างว่าเพื่อจะ ปลดแอก และในปี ๒๔๕๔ ญี่ปุ่นก็มีเอกราชทางการคลังโดยสมบูรณ์ ญี่ปุ่นจะทำสงครามกับรัสเซียจึงไปทำสัญญาพันธมิตรกับอังกฤษ ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๔๖ ญี่ปุ่นจึงได้ทำสงครามกับรัสเซีย สงครามเกิดความยืดเยื้อ อเมริกาจึงมาเสนอให้เลิกรบกันในปีต่อมา เมื่อเสร็จสงครามโลกครั้งที่ ๑ แล้วญี่ปุ่นก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในห้ามหาอำนาจที่บังคับบัญชาโลกในปัจจุบัน

ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้ :
                จะต้องไม่อยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตัวเอง และจะไม่เบียดเบียนผู้อื่นจนทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนและเกิดความเสียหาย ไม่โลภมากและบ้าอำนาจบังคับขู่เข็นผู้อื่น

 ๑๒. ยุคมือใครยาว
สรุปเนื้อหา :
                อำนาจในการปกครองแผ่นดินเริ่มเปลี่ยนมือจากคณะผู้ก่อการฯแห่งต้นรัชกาลพระเจ้าเม็จจิ ไปสู่มือคนอื่นจะเป็นมือใครนั้นก็ยังไม่แน่ แต่อำนาจการปกครองต้องเปลี่ยนมือก็เพราะคณะผู้ก่อการฯ จะล้มหายตายจากไป พระเจ้าจักรพรรดิเม็จจิได้เสด็จสวรรคตใน พ.. ๒๔๕๕ ญี่ปุ่นก็ขาดบุคคลสำคัญที่สุดในคณะบุคคลที่ปกครองแผ่นดิน
                สงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอำนาจและความสำคัญของคนญี่ปุ่นอย่างใหญ่หลวง ชนชั้นพ่อค้าและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมก็มีความสำคัญในชีวิตของญี่ปุ่น คนพวกนี้ก็เริ่มจะเข้าแทนที่ทหารบกและทหารเรือ ทำให้ญี่ปุ่นเป็นมหาอำนาจแต่อาณาจักรใหม่นั้นเป็นอาณาจักรเศรษฐกิจ วงการค้าที่มีอำนาจเงินและอิทธิพลเริ่มจะรู้จักกันในนามว่า ไซปัตสุ เมื่อคณะบุคคลล้มหายตายจากไปปัญหาก็เกิดขึ้นว่า ผู้ใดหรือคณะใดจะเป็นทายาทรับมอบอำนาจในการปกครองแผ่นดินต่อไป ไซปัตสุได้ใช้รัฐสภาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาสิทธิการค้าต่างๆจากทางราชการ มือใครยาวในทางอิทธิพลก็สาวเอาผลประโยชน์ส่วนตัวตามชอบใจ สรุปแล้วการเมืองญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามโลก ครั้งที่ ๑ จนถึง พ.. ๒๔๗๕ ก็วุ่นวายเหมือนกับการเมืองไทยยุคก่อนการปฏิวัติ การเปลี่ยนแปลงอันสำคัญอีกด้านหนึ่งก็คือทางด้านคนงาน คนญี่ปุ่นได้เริ่มจัดตั้งสหพันธ์แรงงานขึ้นในระหว่างสงคราม โลกครั้งที่ ๑ สหพันธ์แรงงานญี่ปุ่นก็รู้จักใช้วิธีนัดหยุดงานเพื่อต่อรองค่าจ้าง ตั้งแต่นั้นมาการนัดหยุดงานก็เป็นส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่งในฉากญี่ปุ่น
                นอกจากสภาพภายในแล้วก็ยังมีอิทธิพลบางอย่างจากภายนอกเข้ามาชักจูงให้ญี่ปุ่นหันเหไปสู่ระบอบเผด็จการ ระบอบเผด็จการกำลังเริ่มจะฟื้นฟูในยุโรป ฮิตเลอร์กำลังเริ่มใช้ระบอบเผด็จการในเยอรมัน นายทหารในญี่ปุ่นก็เริ่มจะเห็นด้วยกับการปกครองและระบอบเผด็จการจะทำให้ชาติรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ในโลก การที่ทหารได้เข้าคุมการปกครองและใช้อำนาจเผด็จการในญี่ปุ่นโดยง่ายก็เพราะรากฐานแห่งประชาธิปไตยและระบอบรัฐสภาของญี่ปุ่นนั้นมิได้ลงไว้ลึก รัฐธรรมนูญนั้นจึงมีช่องโหว่ให้ระบอบเผด็จการเกิดขึ้นได้โดยง่าย ช่องโหว่อีกประการหนึ่งในรัฐธรรมนูญคือทหารเป็นอิสระจากรัฐบาล
                เมื่อทหารเป็นอิสระจากรัฐบาลทหารก็เริ่มจะกระทำการต่างๆ โดยที่รัฐบาลไม่รู้เห็นด้วย ในต้นปี พ.. ๒๔๗๕ ทหารที่มีความคิดเห็นรุนแรงในญี่ปุ่นก็ทำให้การปกครองระบอบรัฐสภามีพรรคการเมืองต้องล้มเลิกไปโดยกะทันหันด้วยการฆาตกรรมทางการเมือง ตั้งแต่ พ.. ๒๔๗๕ รัฐบาลญี่ปุ่นก็อบรมราษฎรให้มีความรู้สึกทางชาตินิยมอย่างรุนแรง ให้มีความคิดเห็นอยู่ในแนวเดียวกัน ผู้ใดความคิดเห็นแตกออกไปก็จะถูกสมาคมลับต่างๆทำร้ายเอา
                การที่ทหารเข้าคุมการปกครองประเทศจนยึดอำนาจการปกครองไว้เด็ดขาด ไม่มีผู้ใดที่จะคัดค้านหรือแม้แต่จะยับยั้ง เป็นเหตุให้ญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามใน พ.. ๒๔๘๔ อันนำมาซึ่งความปราชัยและความหายนะอันยิ่งใหญ่ของชาวญี่ปุ่น

ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้ :
                ควรมีสติ ก่อนที่จะทำอะไรให้รู้จักยั้งคิดยั้งทำ และไม่กระทำหรือก่อการอันใดให้ผู้อื่นเดือดร้อน


 ๑๓. สงครามและความปราชัย
สรุปเนื้อหา :
                เมื่อฝ่ายทหารในญี่ปุ่นได้เข้ากุมอำนาจการปกครองไว้ได้ ฝ่ายทหารจึงได้ใจ ยกกองทัพไปทำสงครามที่จีนอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ยืดเยื้อ เพราะผู้ที่ต่อต้านญี่ปุ่นอย่างแข็งแรงที่สุดในสงครามครั้งนั้น คือ รัฐบาลจีนคณะชาติ โดยมีเจียงไคเชคเป็นผู้นำได้สามารถต่อสู้กับญี่ปุ่นตลอดมาจนถึงวาระสุดท้าย ซึ่งญี่ปุ่นต้องแพ้สงครามในที่สุด ในเดือนกรกฎาคม พ.. ๒๔๘๐ ญี่ปุ่นก็ได้บุกไปรบกับจีนอีกครั้งและครั้งนี้ทางฝ่ายจีนไม่ยอมญี่ปุ่นอีกแล้ว จึงคิดหาทางป้องกันจนสงครามยืดเยื้อกินเวลาเป็นปี
                การรุกรานของญี่ปุ่นที่กระทำต่อประเทศจีนนั้นได้ทำให้สหรัฐอเมริกาและประเทศประชาธิปไตยในยุโรป เช่น อังกฤษและฝรั่งเศสตำหนิญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ซึ่งญี่ปุ่นก็ถือว่าประเทศเหล่านี้เป็นศัตรูของตน ใน พ.. ๒๔๗๙ ญี่ปุ่นได้ลงนามในสัญญาต่อต้านคอมมิวนิสต์กับเยอรมันและอิตาลีก็ได้เข้าร่วมเป็นภาคีในสัญญานี้ในปีต่อมา เมื่อสงครามเกิดขึ้นในยุโรป ญี่ปุ่นก็เห็นว่าเป็นโชคดีของตนจึงได้ขยายตัวลงไปในอินโดจีน การกระทำของญี่ปุ่นทำให้อเมริกาเริ่มระแวงสงสัยและเห็นว่าญี่ปุ่นจะเป็นภัยอย่างหนักต่อไปได้ อเมริกาได้เริ่มลงทัณฑ์แก่ญี่ปุ่นในทางเศรษฐกิจ เช่นไม่ส่งสินค้า สินค้าเหล็กและน้ำมัน นอกจากนั้นประเทศอื่นๆก็ไม่ส่งสินค้าให้ญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน
                ในกลางปี พ.. ๒๔๘๔ นั้น ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับปัญหาที่ยากที่สุดและต้องตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาวญี่ปุ่น การสงครามในประเทศจีนจึงยืดเยื้อมาถึงสี่ปีนั้น ได้ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นทรุดโทรมลงไปมาก และญี่ปุ่นจะต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในขณะนั้น
                ญี่ปุ่นจะต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งวิธีที่ญี่ปุ่นเลือกก็คือ ทำสงครามกับประเทศที่ไม่ส่งสินค้าให้กับตน ซึ่งก็คือ อเมริกา แต่อเมริกาก็ชนะสงครามกับญี่ปุ่นในที่สุด เพราะทางญี่ปุ่นไม่เช่นนั้นญี่ปุ่นจะสูญเสียประชากรหลายล้านคน ซึ่งหนึ่งในผู้ลงนามยอมแพ้สงครามครั้งนั้นก็คือพระเจ้าจักรพรรดินั้นเอง

ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้ :
                อย่าทะนงตนว่าตนเป็นคนเก่งและมีความสามารถที่สุด เพราะในโลกนี้ยังมีอีกหลายคนที่เก่งกว่าเรา ไม่เคียดแค้นชิงชัง และไม่รุกรานสิทธิของผู้อื่น

๑๔. พระอาทิตย์ตกแล้วก็กลับขึ้นอีกได้
สรุปเนื้อหา :
                สิ่งแรกที่ญี่ปุ่นในปัจจุบันไม่เหมือนกับญี่ปุ่นเมื่อก่อนสงครามก็คือ สงครามได้ทำให้ญี่ปุ่นหมดสภาพการเป็นจักรภพ ญี่ปุ่นซึ่งแพ้สงครามแล้วคงเหลืออยู่เฉพาะเกาะสี่เกาะซึ่งเป็นประเทศญี่ปุ่นอันแท้จริงเท่านั้น ในทางการเมืองนั้นทหารได้พ้นจากอำนาจการปกครองอย่างเด็ดขาดในญี่ปุ่น ในขณะที่ญี่ปุ่นก็กำลังทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวกับชาติอื่นๆในเอเชีย
                การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่หลวงอีกอย่างหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นหลังสงครามก็คือ ฐานะพระเจ้าจักรพรรดิ แต่ในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นที่ประกาศใช้หลังสงครามนั้นฐานะของพระเจ้าจักรพรรดินั้นได้เปลี่ยนแปลงไปจากเก่าโดยสิ้นเชิง ตามรัฐธรรมนูญใหม่นี้พระเจ้าจักรพรรดิใหม่นี้ทรงเป็น นิมิตรหมายแห่งรัฐและสามัคคีธรรมแห่งชนทั้งปวง พระองค์ทรงดำรงอยู่ในฐานะพระเจ้าจักรพรรดิด้วยเจตนาของประชาชน ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
                หลักการใหม่เกี่ยวกับฐานะของพระเจ้าจักรพรรดินี้เป็นหลักการที่แตกต่างกับหลักการเดิมอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ชาวญี่ปุ่นทั่วไปก็รับหลักการใหม่นี้โดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน
                อย่างไรก็ตามการปกครองระบอบประชาธิปไตยตลอดจนสิทธิเสรีภาพต่างๆของประชาชนซึ่งได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหลังสงครามนั้นเป็นไปตามแบบอเมริกันทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะอเมริกันซึ่งเข้ามายึดครองญี่ปุ่นอยู่ชั่วคราวได้มีส่วนและเสียงสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นขึ้น 
                การเศรษฐกิจในญี่ปุ่นนั้นเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่งเพราะ ญี่ปุ่นได้ถูกทำลายทางเศรษฐกิจจนเกือบสิ้นเชิงในสงครามโลกครั้งที่แล้ว แต่ครั้นแล้วญี่ปุ่นก็สามารถที่จะกอบกู้ฐานะทางเศรษฐกิจของตนให้กับมาฟื้นดีเหมือนเก่า และยิ่งกว่านั้นยังได้ก้าวหน้าเจริญออกไปกว่าเก่าอย่างที่ประมาทไม่ได้ ความเจริญทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามมาพร้อมกับความเจริญในทางเศรษฐกิจนี้ปัญหาสงคมต่างๆก็บังเกิดขึ้นในญี่ปุ่นเช่นเดียวกับที่มีอยู่ในประเทศอื่นๆ ปัญหาเหล่านี้ได้แก่ ปัญหาเยาวชน ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมโดยทั่วๆไป และปัญหาทางการเมืองอันเกี่ยวกับการเผยแพร่ของระบอบคอมมิวนิสต์ในประเทศญี่ปุ่น องค์การต่างๆของญี่ปุ่นซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องได้พยายามแก้ปัญหาอยู่ทุกระยะแต่จะสำเร็จหรือไม่กาลเวลาเท่านั้นที่ตอบได้

ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้ :
                ต้องให้สิทธิเสรีภาพกับผู้อื่นให้เท่าเทียมกับตนเอง และต้องรู้จักแก้ปัญหาได้ เมื่อเราล้มเราก็จงลุกขึ้นให้ได้เพราะถ้าเราตั้งใจก็ไม่มีอะไรที่เราไม่สามารถทำได้

 ๑๕. ฤดูใบไม้ผลิยังอยู่อีกไกลนัก
สรุปเนื้อหา :
                ครั้งหนึ่งได้มีเจ้าหน้าที่วิทยุของญี่ปุ่นได้เข้าไปสัมภาษณ์นักโทษหญิงในคุกเมืองโตเกียว เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ถามนักโทษหญิงคนหนึ่งว่าเมื่อไหร่จะพ้นโทษ นักโทษหญิงผู้นั้นได้ตอบคำถามด้วยสำเนียงอันสงบเสงี่ยมว่า ฤดูใบไม้ผลิยังอยู่อีกไกลนัก คนญี่ปุ่นที่ฟังวิทยุทั่วประเทศก็ทราบความหมายและรู้ทันทีว่านักโทษหญิงนั้นเคยเป็นเกอิชามาก่อน
                ผู้หญิงเกอิชาไม่ใช่โสเภณีเป็นแน่นอนและมีฐานะและความเป็นอยู่แตกต่างกับโสเภณีราวฟ้ากับดิน เกอิชาเป็นนักร้อง นักรำ และนักดนตรี และเป็นผู้ที่ให้ความรักแก่ชายได้ทั้งรักแท้และรักเทียม นอกจากนั้นเกอิชายังเป็นช่างดอกไม้ ช่างฝีมือ และในปัจจุบันนี้ก็มีพวกเกอิชาจำนวนไม่น้อยที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางภาษา
                ในประเทศอื่นอาจถือว่าการทำงานก็เป็นการทำงานโดยเฉพาะที่กำหนดเวลาไว้ให้ และการเล่นหรือการเลี้ยงดูให้เป็นที่รื่นเริงอันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งแยกกันไว้ แต่ในญี่ปุ่นนั้นการงานกับการเล่นนอกจากจะแยกกันไม่ออกแล้ว ยังจะต้องเอาการงานมารวมไว้กับการเล่นอีกด้วยจึงจะบังเกิดผล
                ว่าโดยทั่วไป เกอิชาอาจแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้
                ๑. โอชา-กุ หรือผู้รินเหล้า จะสังเกตได้จากแบบทรงผม และเครื่องแต่งกายซึ่งมีประเพณีว่าต้องเป็นแบบโบราณ จึงดูเหมือนรูปเขียนในญี่ปุ่นมาก
                ๒. เกอิชาที่หากินตามสถานที่ขายอาหารชั้นต่ำ พวกนี้พื้นความรู้ไม่สูงนัก
                ๓. เกอิชาที่ทำงานตามร้านอาหารชนชั้นสูง คือพวกนักร้อง นักรำ การแสดงละคร
                ๔. เกอิชาชั้นสูงสุด พวกนี้คบค้าสมาคมกับมหาเศรษฐี และนักการเมืองหรือข้าราการชั้นสูง


ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้ :
                ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานอะไรแบบไหน แต่เราก็ยังเป็นคนเหมือนกัน เราไม่ควรดูถูกผู้อื่น

                

5 ความคิดเห็น: